xs
xsm
sm
md
lg

ไข้เลือดออกระบาดไม่หยุด 4 จว.อีสานใต้ป่วย 3,000 ตายแล้ว 3 ราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 นครราชสีมา เผย 4 จังหวัดอีสานล่าง พบผู้ป่วยไข้เลือดออกเข้ารักษาที่ รพ.แล้วกว่า 3,000 ราย เสียชีวิต 3 แล้ว วันนี้ ( 14 มิ.ย.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - เข้าหน้าฝนไข้เลือดออกระบาดหนักต่อเนื่อง สคร. 5 โคราช เผยพบผู้ป่วย 4 จังหวัดอีสานใต้แล้วกว่า 3,000 ราย ตายแล้ว 3 ราย ย้ำมาตรการ 5ป. 1ข. ปชช.ช่วยกันกำจัดลูกน้ำยุงลายป้องกันไข้เลือดออก

วันนี้ (14 มิ.ย.) นพ.ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 (สคร.5) นครราชสีมา กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโรคไข้เลือดออกยังน่าเป็นห่วงอย่างมาก เนื่องจากเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูกาลระบาดของโรคนี้ ทำให้มียุงลายเกิดใหม่เป็นจำนวนมาก ซึ่งยุงลายชอบกัดดูดเลือดคนในเวลากลางวัน และอาจกัดตอนกลางคืนได้เช่นกัน ดังนั้น ความเสี่ยงถูกยุงกัดจึงมีมากขึ้น รวมทั้งยุงลายแพร่พันธุ์แบบทวีคูณ ออกไข่ครั้งละ 100-200 ฟอง ล่าสุด พบมีผู้ป่วยไข้เลือดออกเฉลี่ยทั่วประเทศ ถึงวันละ 570 ราย และผู้ป่วยเกินครึ่งนั้นเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-21 พ.ค.2556 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจำนวน 35,150 ราย ส่วนสถานการณ์ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเขตพื้นที่เครือข่ายบริการที่ 9 ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา, ชัยภูมิ, บุรีรัมย์ และ จ.สุรินทร์ พบผู้ป่วย 3,140 ราย มีผู้เสียชีวิต 3 ราย แยกผู้ป่วยเป็นรายจังหวัด ได้แก่ จ.บุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 671 ราย จ.ชัยภูมิ มีผู้ป่วย 324 ราย จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วย 1,195 ราย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และ จ.สุรินทร์ มีผู้ป่วย 950 ราย มีผู้เสียชีวิต 2 ราย

จากการวิเคราะห์กลุ่มอายุพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กนักเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ดังนั้น ทุกจังหวัดควรจะทำการป้องกันควบคุมโรคอย่างเข้มข้นโดยให้มีการเฝ้าระวังในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในโรงเรียน

อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันการระบาดของโรคไข้เลือดออก ขอเชิญชวนให้ประชาชนร่วมมือกันทำความสะอาด และปรับปรุงสภาพแวดล้อมของบ้านและชุมชน เพื่อให้ปลอดจากไข้เลือดออก และสามารถนำมาตรการป้องกันโรคไข้เลือดออก 5ป. 1ข. มาใช้ ได้แก่ ปิด เปลี่ยน ปล่อย ปรับปรุง ปฏิบัติเป็นประจำ และขัดภาชนะที่มีคราบไข่ยุงเกาะอยู่ คือ 1.ปิดฝาภาชนะกักเก็บน้ำ 2.เปลี่ยนถ่ายน้ำทุก 7 วัน เช่น แจกันดอกไม้ ถังเก็บน้ำสำหรับอาบ 3.ปล่อย ปลาหางนกยูง หรือปลากินลูกน้ำลงในอ่างบัว หรือที่กักเก็บน้ำที่ไม่มีฝาปิด 4.ปรับปรุง สิ่งแวดล้อมไม่ให้มีน้ำขังในที่ต่างๆ โดยเฉพาะยางรถยนต์ 5.ปฏิบัติการดังกล่าวข้างต้นเป็นประจำทุกสัปดาห์

“สำหรับในช่วงฤดูร้อนต่อช่วงฤดูฝนต้องขอเพิ่ม 1ข. คือ ขัดภาชนะที่เคยใช้กักเก็บน้ำก่อนนำมารองรับน้ำครั้งใหม่ เพราะภายในภาชนะดังกล่าวอาจมีไข่ยุงเกาะติดอยู่ เมื่อมีน้ำมาหล่อเลี้ยงไข่ยุงจะสามารถฟักตัวเป็นลูกน้ำภายใน 20-60 นาที ไข่ยุงนี้จะมีอายุยืนเป็นปี แม้อยู่ในภาวะแห้งแล้ง” นพ.ธีรวัฒน์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น