ศูนย์ข่าวขอนแก่น - แม้หลายพื้นที่มีฝนตกต่อเนื่อง แต่อีกหลายพื้นที่ยังมีปัญหาขาดแคลนน้ำเพราะปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอำเภอพระยืน ประชาชนกว่า 1,200 ครอบครัวมีน้ำดื่มน้ำใช้ไม่เพียงพอ น้ำประปาไม่ไหลนานกว่า 1 สัปดาห์ ทางอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องขนน้ำไปแจกจ่ายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน
วันนี้ (4 มิ.ย.) นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล นายอำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยคณะเทศบาลตำบลพระยืน เข้าตรวจสอบหนองพระยืน ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาด 60 ไร่ ซึ่งขณะนี้มีสภาพแห้งขอด จากเดิมที่น้ำมีความจุ 600,000 ลูกบาศก์เมตร แต่ในปัจจุบันเหลือเพียง 22,000 ลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 7 ของความจุ แต่เป็นน้ำใช้ได้จริง 10,000 ลูกบาศ์กเมตรเท่านั้น และน้ำจะใช้ได้เพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น ส่งผลทำให้ไม่สามารถผลิตน้ำประปาได้ และน้ำประปาหยุดไหลมานานกว่า 1 สัปดาห์เช่นกัน
ปัญหาดังกล่าวทำให้ชาวบ้าน 1,200 ครัว ประชาชน 4,000 คนได้รับความเดือดร้อนต้องนำรถพร้อมภาชนะใส่น้ำมายังถังน้ำกลางที่ทางเทศบาลฯ ได้จัดเตรียมไว้ให้
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นเทศบาลตำบลพระยืนได้แก้ไขปัญหาด้วยการนำถังน้ำขนาด 1,000 ลิตรไปวางไว้ตามแหล่งชุมชนกว่า 10 ใบ แล้วให้รถดับเพลิงของเทศบาลฯ นำน้ำมาเติมใส่ถังเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล นายอำเภอพระยืน กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งปีนี้ว่ารุนแรงกว่าทุกปี เนื่องจากอำเภอพระยืนประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงทำให้ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำสาธารณะแห้งขอด แม้ช่วงนี้จะมีฝนตกลงมาแต่ก็ไม่ได้ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำ ขณะนี้ทางเทศบาลฯ ได้นำรถดับเพลิงจำนวน 2 คัน รถบรรทุกน้ำจากเทศบาลข้างเคียง 2 คัน และรถบรรทุกน้ำจากค่ายสีหราชเดโชชัยอีก 1 คัน บรรทุกน้ำแจกจ่ายชาวบ้าน
โดยนำน้ำไปใส่ถังน้ำกลางที่มีมากกว่า 10 จุดตามแหล่งชุมชน รวมทั้งสถานีตำรวจ โรงพยาบาล สถานีอนามัย และขอความร่วมมือประชาชนให้ใช้น้ำอย่างประหยัด
ด้านนายวิเชียร สีชารี นายกเทศบาลตำบลพระยืน กล่าวว่า ขณะนี้ได้เตรียมการแก้ไขปัญหาระยะยาว คือการขุดลอกหนองพระยืนให้มีความลึกมากกว่าปัจจุบัน ซึ่งจะสามารถเก็บน้ำได้กว่า 1 ล้านลูกบาศ์กเมตร พร้อมทั้งทำท่อเชื่อมต่อจากหนองคูหนองน้ำสาธารณะขนาดใหญ่ เพื่อดึงน้ำมาใส่หนองพระยืน
ส่วนโครงการต่อไปเตรียมเสนอของบประมาณในการเชื่อมต่อระบบประปาของการประปาส่วนภูมิภาคที่อยู่ห่างจากตัวอำเภอพระยืนระยะทางกว่า 20 กิโลเมตร ซึ่งขณะนี้ขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์ได้ผ่านไปแล้ว โดยชาวบ้านเห็นด้วยกับแนวทางนี้ คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในปี 2557 ถึงปี 2558