xs
xsm
sm
md
lg

สสจ.โคราชระดม 32 อำเภอเร่งแก้ “ไข้เลือดออก” ระบาดหนัก ผู้ป่วยจ่อพุ่ง 4 เท่าตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.วิชัย ขัตติยวิทยากุล  สสจ.นครราชสีมา เรียกประชุมสาธารณสุขอำเภอ ,ผอ.รพ. หัวหน้าส่วนราชการ และจนท.สาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง ทั้ง 32 อำเภอ ของโคราช เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออกระบาดหนัก วันนี้ ( 31 พ.ค.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - สสจ.โคราช ระดมสาธารณะสุขอำเภอ-ผอ.รพ. และหัวหน้าส่วนที่เกี่ยวข้องทั้ง 32 อำเภอ เร่งแก้ปัญหาไข้เลือดออก หลังระบาดรุนแรงในพื้นที่ พบผู้ป่วยแล้ว 1,350 ราย ตาย 1 ศพ มากกว่าปีที่แล้ว 3.3 เท่าตัว และมีแนวโน้มพุ่งเป็น 4 เท่า

วันนี้ (31 พ.ค.) ที่ห้องประชุมชั้น 2 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา นพ.วิชัย ขัตติยวิทยากุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นครราชสีมา ได้เรียกประชุมสาธารณสุขอำเภอ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง ทั้ง 32 อำเภอ ของ จ.นครราชสีมา เพื่อหารือและวางแผนแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออก หลังพบว่า ปัญหาโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ จ.นครราชสีมายังระบาดและมีแนวโน้มค่อนข้างรุนแรงมากขึ้น

นพ.วิชัยเปิดเผยว่า สถานการณ์ไข้เลือดออกของ จ.นครราชสีมา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 20 พฤษภาคม 2556 พบผู้ป่วยจำนวน 1,350 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 51.70 ต่อแสนประชากร เสียชีวิต จำนวน 1 ราย ที่ อ.ปากช่อง คิดเป็นอัตราตายเท่ากับ 0.04 ต่อประชากรแสนคน และอัตราป่วยตายเท่ากับ ร้อยละ 0.07 ซึ่งพบผู้ป่วยมากกว่าปีที่แล้ว 3.3 เท่า โดยพบผู้ป่วยเพศหญิงและเพศชายไม่ต่างกัน คิดเป็นอัตราส่วนเพศหญิง ต่อ เพศชาย เท่ากับ 1.00 : 1

สำหรับพื้นที่ที่มีการระบาดมากที่สุด ได้แก่ อ.ปากช่อง พบผู้ป่วยจำนวน 183 คน คิดเป็นอัตราป่วย 97.16 ต่อแสนประชากร รองลงมาเป็น อ.เมืองนครราชสีมา, อ.หนองบุญมาก, อ.บ้านเหลื่อม และ อ.โนนสูง โดยพบผู้ป่วยมากในวัยแรงงาน กลุ่มอายุ 55-64 ปี อัตราป่วยต่อประชากรแสนคนเท่ากับ 2.38 ราย รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป, อายุ 45-54 ปี, อายุ 15-24 ปี และ อายุ 25-34 ปี อัตราป่วยเท่ากับ 1.76, 1.36, 1.03 และ 0.52 ตามลำดับ

นพ.วิชัยกล่าวต่อว่า จากการสุ่มสำรวจค่าความชุกของลูกน้ำยุงลาย จำแนกตามความเสี่ยงของพื้นที่พบว่า เป็นพื้นที่สีแดง หรือพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง รวม 16 อำเภอ พื้นที่สีเหลืองที่ต้องเฝ้าระวัง 10 อำเภอ และพื้นที่สีเขียวที่ยังไม่พบผู้ป่วย 6 อำเภอ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มอายุตามการคาดการณ์ของกระทรวงสาธารณสุข โดยอาจมีผู้ป่วยเพิ่มมากเป็นจำนวนถึง 4 เท่าของปีที่ผ่านมา

“ดังนั้นจึงขอความร่วมมือทุกภาคส่วนรวมทั้งพี่น้องประชาชน ควรหมั่นตรวจสอบภาชนะภายในบริเวณบ้าน และ ร่วมกันกำจัดลูกน้ำยุงลายทุกวันศุกร์ หากไม่ร่วมมือโอกาสที่จะมีผู้ป่วยมากขึ้นและมีโอกาสที่จะพบผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน” นพ.วิชัยกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น