มหาสารคาม - ผลการศึกษาวิจัยยืนยันฟอสซิลของเต่าคูโอรา เชียงม่วนเอนซิส มีลักษณะใกล้เคียงกับเต่าสกุลคูโอราในปัจจุบันมากที่สุด หลักฐานการค้นพบครั้งนี้จึงเป็นการเผยโฉมฟอสซิลเต่าสกุลปัจจุบันครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย และถือว่าเต่าคูโอราแห่งเชียงม่วนเป็นบรรพบุรุษเต่าหับที่เก่าแก่ที่สุดในโลก 12 ล้านปี
วันนี้ (29 พ.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ได้จัดให้มีการแถลงข่าว “ไขปม 12 ล้านปี เต่าหับแห่งอุษาคเนย์กำเนิดในไทย” โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย สมัปปิโต อธิการบดี มมส. ดร.วราวุธ สุธีธร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มมส. น.ส.วิไลลักษณ์ นาคศรี นิสิตปริญญาเอก สาขาบรรพชีวินวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มมส. ผู้ศึกษาฟอสซิลเต่าจากเหมืองเชียงม่วน ร่วมแถลง
ทั้งนี้ ผลการศึกษาวิจัยพบว่าเป็นเต่าชนิดใหม่ของโลก ชื่อ คูโอรา เชียงม่วนเอนซิส หรือเต่าหับแห่งเหมืองเชียงม่วน และยังเป็นบรรพบุรุษเต่าหับที่เก่าแก่ที่สุดในโลกที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเมื่อ 12 ล้านปีก่อน ช่วยเผยความลับวิวัฒนาการ และการแพร่กระจายของเต่าหับในทวีปเอเชีย โดยฟอสซิลเต่าชนิดใหม่ของโลกมีชื่อว่า คูโอรา เชียงม่วนเอนซิส (Cuora chiangmuanensis)
น.ส.วิไลลักษณ์กล่าวว่า เต่าคูโอรา เชียงม่วนเอนซิส เป็นเต่าน้ำจืดสกุลเดียวกับเต่าหับปัจจุบัน แต่ชิ้นส่วนฟอสซิลที่ค้นพบมีอายุประมาณ 11-12 ล้านปี พบที่บริเวณเหมืองถ่านหินเชียงม่วน อ.เชียงม่วน จ.พะเยา เมื่อ 11 ปีก่อน โดยนายนิกร วงค์ไชย พนักงานธรณีวิทยาประจำเหมือง ชื่อชนิดเชียงม่วนเอนซิส จึงหมายถึงเต่าคูโอราแห่งเชียงม่วน
โดยเต่าสกุลคูโอราเป็นเต่าน้ำจืดกลุ่มที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ในประเทศไทยรู้จักกันดีในชื่อเต่าหับ (Cuora amboinensis) ทั้งนี้ จากการศึกษาเปรียบเทียบลักษณะฟอสซิลกระดองที่พบที่เหมืองเชียงม่วน กับฟอสซิลเต่าชนิดอื่นในสกุลคูโอรา ซึ่งฟอสซิลของเต่าคูโอรา เชียงม่วนเอนซิส มีลักษณะใกล้เคียงกับเต่าสกุลคูโอราในปัจจุบันมากที่สุด
การค้นพบครั้งนี้จึงเป็นการเผยโฉมฟอสซิลเต่าสกุลปัจจุบันครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย และถือว่าเต่าคูโอราแห่งเชียงม่วนเป็นบรรพบุรุษเต่าหับที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ทั้งยังอาจกล่าวได้ว่าเต่าหับที่แพร่กระจายทั่วเอเชียในปัจจุบันมีจุดกำเนิดมาจากประเทศไทยเมื่อ 12 ล้านปีก่อนในยุคไมโอซีนตอนกลาง