ศูนย์ข่าวศรีราชา - พิษบาทแข็งส่งผลลามผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย ถึงขั้นหยุดผลิต และขายเป็นการชั่วคราวเลี่ยงปัญหาขาดทุน ซ้ำยังเจอปัญหาประเทศจีนซึ่งเป็นคู่ค้าใหญ่ประสบภัยระบาดไข้หวัดนกจนต้องลดคำสั่งซื้อหัวมันฯ ดิบเพื่อผลิตอาหารสัตว์ โดยนายกฯ ส.โรงมันฯ ชี้ปี 56 มันสำปะหลังไทยอาจไม่ใช่สินค้าช่วยชาติอย่างปีก่อน แต่ก็พร้อมจับตาความเคลื่อนไหวค่าเงินในอีก 2-3 เดือนข้างหน้าเพื่อหาทางช่วยเหลือตัวเองต่อไป
นายนิยม จุฬาเสรีกุล นายกสมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย เผยว่า ผลจากค่าเงินบาทที่อยู่ในระดับ 28-29 บาทต่อเหรียญสหรัฐ กำลังทำให้ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทยไม่กล้าส่งสินค้าไปยังประเทศคู่ค้า เพราะเกรงว่าจะต้องเจอกับภาวะขาดทุน โดยผู้ประกอบการ และผู้ส่งออกหลายรายจำเป็นต้องประคองตัวด้วยการหยุดผลิตและส่งออกสินค้า เพื่อรอดูสถานการณ์ค่าเงินในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า
ทั้งนี้ ไม่เพียงค่าเงินบาทที่กำลังสร้างผลกระทบต่อผู้ประกอบการเท่านั้น เศรษฐกิจที่ตกต่ำอย่างหนักในประเทศจีน และการระบาดของโรคไข้หวัดนกที่ทำให้สัตว์ปีก และสัตว์หลายชนิดล้มตายเป็นจำนวนมาก ก็ทำให้ความต้องการอาหารสัตว์ที่ใช้ผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลังของไทยลดลงตามไปด้วย
“เมื่ออาหารสัตว์มีความต้องการลดลง ข้าวโพดที่ปลูกเป็นจำนวนมากในจีนก็เหลือมากขึ้น ผู้ผลิตอาหารสัตว์ในจีนจึงพากันหันมาใช้ข้าวโพดในการผลิตอาหารสัตว์แทนการสั่งซื้อหัวมันฯ ดิบจากไทย ขณะที่ผู้ส่งออกไทยก็ไม่กล้าส่งออกผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง เพราะที่ผ่านมา ราคาส่งออกอยู่ที่ 260 เหรียญต่อตัน แต่ขณะนี้แม้จะส่งออกในราคา 245 เหรียญต่อตัน ผู้ประกอบการจีนก็ยังไม่กล้าซื้อ ด้านผู้ส่งออกไทยก็ไม่กล้าขายเพราะเกรงว่าจะขาดทุน”
นายนิยม เผยเพิ่มเติมว่า ในปี 2556 ตัวเลขการส่งออกมันสำปะหลังของไทยอาจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และจะไม่ใช่สินค้าช่วยชาติอย่างปีก่อนๆ แต่ก็คาดว่ามูลค่าการส่งออกและปริมาณส่งออกคงจะลดลงไม่มากนัก เพราะในความโชคร้ายเรื่องค่าเงินบาท ผู้ประกอบการไก็ยังโชคดีที่หลายประเทศทั่วโลกต้องเผชิญกับภาวะโลกร้อน จนไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ พากันหันมาสั่งซื้อผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจากไทย เช่น นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน และอินโดนีเซีย ฯลฯ ซึ่งก็ถือเป็นตลาดใหม่ที่สามารถทดแทนคำสั่งซื้อจากตลาดใหญ่อย่างจีน และอเมริกา รวมทั้งประเทศแถบยุโรปได้
“เราคงไม่มีคำแนะนำอะไรไปถึงรัฐบาลเรื่องการแก้ไขปัญหาค่าเงิน เพราะหากขอให้ค่าเงินอ่อนก็จะไปกระทบกับผู้นำเข้า ดังนั้น สิ่งที่ทำได้คือรอดูสถานการณ์ตลาด และค่าเงินในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า เพื่อกำหนดทิศทางต่อไป และใช้ทุนที่มีประคองตัว และจัดสรรเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ที่กำลังส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมในขณะนี้ และก็ได้แต่หวังว่าการส่งออกของไทยจะกลับมาดีได้อีกครั้ง” นายนิยมกล่าว