xs
xsm
sm
md
lg

ชาวหนองบัวลำภูแห่ชมประเพณีบั้งไฟฉบับเทพลีลา สืบตำนานหลวงปู่บั้งไฟแสน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หนองบัวลำภู - ชาวบ้านแห่ชมประเพณีบุญบั้งไฟฉบับเทพลีลา สืบสานตำนานหลวงปู่บั้งไฟแสน พระนักพัฒนาและวิปัสสนาแห่งตำบลกุดดู่ อำเภอโนนสัง หนองบัวลำภู

วันนี้ (12 พ.ค.) ที่สนามศรีกุดดู่ ต.กุดดู่ อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู ชาวตำบลกุดดู่และตำบลใกล้เคียงต่างเดินทางมาร่วมชมความสวยงามของขบวนแห่บั้งไฟแสนฉบับเทพลีลา ที่แต่ละชุมชนได้ร่วมแรงร่วมใจสามัคคีกันสร้างสรรค์อย่างสวยงาม ซึ่งนอกจากจะเป็นการสืบสานประเพณีขอฟ้าขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาลแล้ว ยังเป็นการสืบสานตำนาน “หลวงปู่บั้งไฟแสน” โดยเฉาะอย่างยิ่งชื่อของบั้งไฟที่นับว่าไม่ค่อยจะคุ้นหูกันนัก

โดยกิจกรรมในงานได้จัดให้มีการประกวดขบวนแห่ ประกวดผาแดง-นางไอ่ การแสดงทางด้านศิลปวัฒนธรรมต่างๆ การสาธิตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นต่างๆ แล้วแต่ว่าชุมชนใดจะมีความคิดสร้างสรรค์อย่างไร เช่น มีการสาธิตการถอนต้นกล้า สาธิตการตำข้าว สาธิตการเล่นหมอลำซิ่ง สาธิตการสาวไหม และขบวนฟ้อนรำของแต่ละชุมชน

ซึ่งในแต่ละปีจะมีการแข่งขันฟ้อนรำว่าขบวนฟ้อนรำของชุมชนใดจะมีความพร้อมเพรียงสวยงามมากที่สุด สร้างความสนุกสนาน เป็นที่สนใจของชาวไทยและชาวต่างชาติ (เขยฝรั่ง) ที่ได้มาชมกันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวขบวนรถที่แห่บั้งไฟจะมีการประดับประดาบั้งไฟอย่างวิจิตรตระการตา สวยงามไม่แพ้จังหวัดใดเลยทีเดียว

นายวรพันธ์ ชาวชุมนุม นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลกุดดู่ ได้กล่าวถึงที่มาของ “บั้งไฟฉบับเทพลีลา” ว่า บั้งไฟฉบับเทพลีลานั้นได้รับการบอกเล่าจากชาวบ้านที่เล่าขานสืบต่อกันมากว่า 51 ปี โดยในครั้งนั้นพระครูวิมลศีลคุณ หรือหลวงปู่บั้งไฟแสน อดีตเจ้าคณะอำเภอโนนสัง ซึ่งเป็นพระนักพัฒนาและวิปัสสนาอีกรูปหนึ่งที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ เป็นผู้ริเริ่มจัดทำบั้งไฟแสนขึ้น โดยนำต้นตาลมาเจาะทำเป็นรูบั้งไฟ (เลาหรือบั้ง) และใช้ไม้พลองทำเป็นหางบั้งไฟ และเรียกบั้งไฟแสนนี้ว่า “บั้งไฟฉบับเทพลีลา”

ผลจากการทำบั้งไฟฉบับเทพลีลาในครั้งนั้นได้เกิดอิทธิปาฏิหาริย์จนชาวบ้านแตกตื่น เมื่อพบรอยไหม้ต้นหญ้าในแปลงนาของพ่อใหญ่ทหารลีจากข้างถนนจนถึงดอนปู่ตาเป็นระยะทางร่วม 200 เมตร พร้อมกับเกิดรอยแยกของพื้นดินจากดอนปู่ตาจนถึงวัดศรีสว่าง บ้านกุดดู่ที่หลวงปู่บั้งไฟแสนจำวัด ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่าเกิดจากพญานาคที่รับรู้การทำบุญของหลวงปู่

จึงเล่าขานกันมากระทั่งทุกวันนี้ และเป็นความเชื่อว่าในปีหนึ่งๆ ลูกหลานชาวบ้านกุดดู่และใกล้เคียงจะต้องมาร่วมกันประกอบพิธีรำลึกถึงในปรากฏการณ์ครั้งนั้นทุกๆ ปี อันเป็นการรำลึกถึงพระครูวิมลศีลคุณ หรือหลวงปู่บั้งไฟแสน ที่ริเริ่มจัดให้มีขึ้นด้วย

สำหรับประเพณีบุญบั้งไฟเป็นการแสดงออกถึงภูมิปัญญา และความชาญฉลาดของชาวอีสานที่เน้นความรักความสามัคคี และมีการสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมชาวอีสาน ซึ่งชาวตำบลกุดดู่ อำเภอโนนสังได้ร่วมกันสืบทอดและสืบสานประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามไว้อย่างดีเพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ และสืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบันนี้




กำลังโหลดความคิดเห็น