ประจวบคีรีขันธ์ - จังหวัดประจวบฯ พร้อมด้วยอุทยานฯ สามร้อยยอด อบต.ไร่เก่า และหน่วยงานเกี่ยวข้อง ระดมความคิดศึกษาหาแนวทางพลิกฟื้นบึงบัวหลวงกว่า 500 ไร่ ในอุทยานฯ สามร้อยยอด หลังจากประสบปัญหาภัยแล้งมาถึง 3 ปี จนปัจจุบันบัวตายหมด ส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยว และอาชีพชาวบ้านที่รับจ้างถ่อเรือพานักท่องเที่ยวชมบึงบัว
วันนี้ (30 เม.ย.) ที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติบึงบัว อุทยานฯ สามร้อยยอด นายสมมิตร ศิลป์ประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาบึงบัวให้ฟื้นคืนความสวยงามอีกครั้ง โดยมี นายกาญจนพันธุ์ คำแหง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติสามร้อยยอด นายพีระ สุกิจปาณีนิจ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ไร่เก่า พร้อมด้วยตัวแทนจากอำเภอสามร้อยยอด เจ้าหน้าที่สำนักงานจังหวัด เจ้าหน้าที่ ทสจ. ชลประทาน ประมง เกษตร และตัวแทนชาวบ้านในทุ่งสามร้อยยอด มาร่วมกันหาแนวทางแก้ไข
นายสมมิตร ศิลป์ประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ปัญหาบึงบัวที่ผ่านมาเคยมีบัวออกดอกบานสะพรั่ง มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามานั่งเรือชาวบ้านในทุ่งสามร้อยยอดถ่อชมบึงบัวเป็นจำนวนมาก แต่ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา เกิดปัญหาภัยแล้งต่อเนื่อง ทำให้ระดับน้ำในทุ่งสามร้อยยอดลดลง และเกิดความเค็มเพิ่มมากขึ้น ทำให้บัวในบึงที่มีอยู่กว่า 500 ไร่ ไม่เจริญเติบโต และทยอยตายจนแทบหมดจนมาถึงปัจจุบันนี้ และยังทำให้ในบึงมีทั้งสาหร่ายทะเล และวัชพืช หรือธูปฤาษีขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ส่งผลทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมเหมือนที่ผ่านมา
นอกจากนั้นแล้ว ชาวบ้านที่เคยมีอาชีพถ่อเรือพานักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวชมบึงบัวก็ขาดรายได้จากตรงนี้ไป โดยทางจังหวัดได้ให้ความสำคัญเรื่องของบึงบัว เนื่องจากเคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่สวยงาม และนักท่องเที่ยวให้ความสนใจ จึงต้องช่วยกันพยามหาแนวทางพลิกฟื้นบัวในบึงให้ฟื้นคืนความสวยงามให้ได้ ถึงจะต้องใช้ระยะเวลาก็ตาม
นายสมมิตร ศิลป์ประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวอีกว่า ในที่ประชุมได้สรุปว่า ปัญหาถึงปริมาณน้ำภายในทุ่งสามร้อยยอดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยต้องหาแนวทางที่จะต้องดำเนินทั้งการใช้แนวทางการนำน้ำจืดจากคลองธรรมชาติ และนำน้ำจากเขื่อนปราณบุรี เดินผ่านท่อเข้ามาเติมเพื่อให้ปริมาณน้ำในบึงบัวให้มีปริมาณสูงขึ้น
รวมไปถึงการต้องมีการจัดสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อไม่ให้น้ำในบึงบัวไหลลงทะเลมากเกินไปเพื่อต้องรักษาระดับน้ำเอาไว้ก็จะลดระดับความเค็มในน้ำได้อีกด้วย ซึ่งหากทำได้เหง้าของบัวที่ยังคงอยู่ใต้น้ำก็น่าจะกลับมาเจริญเติบโต แต่อย่างไรก็ตาม ก็คงต้องใช้ระยะเวลา และจะทำให้สาหร่ายน้ำเค็มเริ่มลดลงในขณะที่สาหร่ายน้ำจืดก็จะกลับเข้ามา ซึ่งจะเป็นวัฏจักรของระบบนิเวศวิทยาในทุ่งสามร้อยยอดแห่งนี้
“ซึ่งแนวทางทั้งหมดได้มอบหมายให้ทางสำนักงานจังหวัดประจวบฯ เป็นผู้ดำเนินการเขียนแผนทั้งระยะสั้น และการแก้ไขระยะยาวเพื่อจัดของบประมาณ ซึ่งคงต้องช่วยกันเพื่อที่จะให้บึงบัวกลับมาเบ่งบาน เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเหมือนที่ผ่านมาให้ได้ ชาวบ้านในละแวกนี้ก็จะมีรายได้จากการท่องเที่ยวตามมา”
ด้านนายพีระ สุกิจปาณีนิจ นายก อบต.ไร่เก่า กล่าวว่า แนวทางแก้ไขเบื้องต้นหากมีน้ำเข้ามาเติมได้ในระดับหนึ่งแล้ว ส่วนหนึ่งก็จะใช้วิธีการปลูกบัวขึ้นมาบริเวณด้านหน้าประมาณ 20 ไร่ ที่ติดกลับสะพาน โดยต้องให้ผู้มีประสบการณ์ทางด้านนี้เข้ามาดำเนินการศึกษาทั้งเรื่องดิน เรื่องน้ำ แต่การทำอะไรก็ต้องไม่กระทบต่อระบบนิเวศวิทยา และอาจต้องใช้เวลาในการที่จะให้สภาพบึงบัวคืนกลับมาเหมือนเมื่อ 5 ปีที่แล้ว โดยการดำเนินการทาง อบต.เองก็จะต้องไปจัดหางบประมาณมาสำหรับพัฒนาบึงบัว แต่ก็ต้องประสานการทำงานกับทางอุทยานฯ สามร้อยยอด ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ แต่ทั้งหมดนี้ต้องขึ้นอยู่กับน้ำจืดซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ
น.ส.พสิษฐ์ตา อินทร์พันธ์ ผู้อำนวยการ ททท.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า บึงบัวในทุ่งสามร้อยยอด ในอุทยานแห่งชาติสามร้อยยอด เป็นแหล่งท่องเที่ยวซึ่งทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างชาติให้ความสนใจเดินทางไปท่องเที่ยวชมธรรมชาติความสวยงาม โดยเฉพาะช่วงที่บัวออกดอกสีชมพูบานสะพรั่ง ซึ่งบริษัททัวร์จัดเป็นโปรแกรมท่องเที่ยว แต่ระยะหลังทราบว่า เกิดปัญหาภัยแล้งทำให้บัวตาย ซึ่งนักท่องเที่ยวก็ได้สอบถามเข้ามาที่สำนักงาน ททท.ประจวบฯ ก็ได้ชี้แจงทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งนักท่องเที่ยวก็รู้สึกเสียดายต่อความงามที่เป็นธรรมชาติ ตอนนี้ทราบว่าทางจังหวัดกับหลายหน่วยงานพยามหาแนวทางในการพลิกฟื้นบึงบัวขนาดใหญ่ให้กลับฟื้นคืนมา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างมาก เพราะเชื่อว่าหากทำได้สำเร็จนักท่องเที่ยวก็จะกลับเข้ามาเที่ยวชม ชาวบ้านในชุมชนก็จะมีรายได้จากการนำนักท่องเที่ยวชมบึงบัว