ประจวบคีรีขันธ์ - รพ.ประจวบคีรีขันธ์ บูรณาการร่วมหลายหน่วยงานฝึกซ้อมแผนบรรเทาสาธารณภัยจากอาคารถล่ม เพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสาธารณชนให้น้อยที่สุด อีกทั้งเพื่อพัฒนาระบบการประสานงาน และการสื่อสารระหว่างเครือข่ายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
วันนี้ (9 เม.ย.) โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ ได้บูรณาการร่วมกับหลายหน่วยงานในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จัดการฝึกซ้อมแผนบรรเทาสาธารณภัยจากอาคารเรียนถล่ม ณ โรงเรียนประจวบวิทยาลัย อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีนายแพทย์บุญเลิศ สีห์รา รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลฝ่ายพัฒนาระบบบริการ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานอำนวยการ พร้อมร่วมสังเกตการณ์ โดยมีเจ้าหน้าที่ พนักงาน จากหน่วยงานสนับสนุนทั้งส่วนราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชน อาสาสมัคร และมูลนิธิกว่า 100 คน ร่วมปฏิบัติการฝึกซ้อมแผน
ในการซ้อมแผนดังกล่าว ได้จำลองเหตุการณ์เกิดอาคารเรียน 2 ชั้นถล่ม ณ โรงเรียนประจวบวิทยาลัย ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งหมด 50 คน โดยมีผู้บาดเจ็บสาหัส 20 คนโดยหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (EMS) 1669 โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ ได้ประสานงานให้หน่วยกู้ชีพ กู้ภัย ทุกหน่วยออกปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย และประสานงานไปยังหน่วยงานสนับสนุนต่างๆ เพื่อร่วมกันให้ความช่วยเหลือ ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ โรงพยาบาลชุมชน เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่ใกล้เคียง และหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินในจังหวัด เข้าทำการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บอย่างทันท่วงที ซึ่งทุกหน่วยต้องออกปฏิบัติหน้าที่โดยกำหนดให้ถึงที่เกิดเหตุภายใน 15 นาที
จากนั้นได้ทำการคัดแยกผู้บาดเจ็บตามอาการ ทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจรักษาอย่างเร่งด่วนต่อไป โดยมีอาจารย์แพทย์หญิงปฏิมา พุทธไพศาล อาจารย์นายแพทย์อรรถสิทธิ์ โคมินตร์ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และแพทย์หญิงพรพรรณ จินดาวัฒนวงศ์ หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉินและนิติเวช รพ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นวิทยากรในการฝึกซ้อม
สำหรับการปฏิบัติการซ้อมแผนครั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งด้านบุคลากร ด้านวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือ ตลอดจนด้านเวชภัณฑ์ และเพื่อให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ได้มีส่วนร่วม และมีความพร้อมในทุกสถานการณ์ สามารถให้การสนับสนุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพภายใต้การประสานงานอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสาธารณชนให้น้อยที่สุด อีกทั้งเพื่อพัฒนาระบบการประสานงาน และการสื่อสารระหว่างเครือข่ายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น