ตราด - “วาฬเพชฌฆาต” ตัวเล็กเสียชีวิตแล้ว หลังสัตวแพทย์ทำการรักษายื้อชีวิตมาได้ 20วัน หน.อุทยานแห่งชาติเกาะช้าง ขอซากทำพิพิธภัณฑ์สัตว์หายากในเกาะช้าง
วันนี้ (8 เม.ย.) นายวุฒิพงศ์ อุ้ยอลงกรณ์ หัวหน้าหน่วยพิทักษ์อุทยานฯที่ กช.3 บ้านสลักเพชร ได้รับแจ้งเจ้าหน้าที่พิทักษ์อุทยานฯ ที่ กช.3 ที่คอยช่วยดูแลวาฬทั้ง 2 ตัวว่า วาฬเพชฌฆาตตัวเล็กที่ได้รับบาดเจ็บ และมีอาการทรงตัวติดต่อกันมาหลายวันนั้นได้เสียชีวิตแล้ว เมื่อได้รับแจ้ง นายวุฒิพงศ์ จึงรายงานให้นายพันธุ์พงษ์ คงเดชอดิศักดิ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้างทราบ และเดินทางไปตรวจสอบร่วมกับทีมสัตวแพทย์จากศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทย ฝั่งตะวันออก จ.ระยอง นำวาฬที่เสียชีวิตขึ้นจากบ่อไปแช่แข็งไว้ในตู้แช่ขนาดใหญ่ของทางรีสอร์ท มหาจักร
ต่อมา ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปที่บริเวณรีสอร์ทมหาจักรหมู่ 3 ต.เกาะช้างใต้ อ.เกาะช้าง จ.ตราด ได้พบกับนายสัตวแพทย์สนธยา มานะวัฒนา จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฯ และเจ้าหน้าที่ของอุทยานฯ ได้ช่วยกันนำร่างของวาฬตัวเล็กที่เสียชีวิตห่อด้วยผ้าใบสีดำขึ้นรถกระบะ เพื่อนำไปทำการผ่าพิสูจน์ที่บริเวณที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ กช.3 บ้านสลักเพชร ต.เกาะช้างใต้
ในเบื้องต้น จากการผ่าพิสูจน์ของทีมสัตวแพทย์พบว่า กล้ามเนื้อภายในของวาฬนั้นมีน้ำแทรกซึมเข้าไป เกิดการอักเสบอย่างรุนแรง ทำให้ลำตัวนั้นบวมผิดปกติ คงจะเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต พร้อมกันนี้ จะได้มีการนำอวัยวะภายในที่สำคัญ ตลอดจนชิ้นเนื้อของวาฬที่เสียชีวิตส่งไปตรวจหาสาเหตุที่ห้องแล็บกรุงเทพฯ อย่างละเอียดอีกครั้ง ซึ่งน่าจะรู้ผลอย่างเป็นทางการภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 อาทิตย์
นายสัตวแพทย์สนธยา มานะวัฒนา หัวหน้าทีมสัตวแพทย์ที่ทำการรักษาวาฬ ทั้ง 2 ตัว กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 20 วันที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าวาฬตัวเล็กนั้นจะมีอาการป่วยที่ทรงตัว และกินอาหารเองไม่ได้ต้องป้อนอาหารเหลว แต่ขับถ่ายได้ และก่อนที่วาฬตัวเล็กจะเสียชีวิตได้เกิดสำรอกอาหารออกมาติดต่อกัน 3 ครั้ง และมีอาการชักกระตุก แล้วก็แน่นิ่งไป
ขณะเดียวกัน มาถึงวันนี้ทางด้านอาการของวาฬตัวใหญ่ แข็งแรงขึ้น กินอาหารที่นำมาป้อนได้ ขับถ่ายได้บ้างแล้ว มีอาการท้องอืดบ้างบางเวลา เจ้าหน้าที่ต้องมีการให้ยาเร่งระบาย และที่ต้องมีการนำเสื้อชูชีพมาใส่ผูกเชือกโยงเอาใว้ เนื่องจากปัจจุบันเริ่มมีอาการดุร้ายไล่งับเจ้าหน้าที่ขณะลงไปใกล้เพื่อให้ยาทำการรักษา และกลัวว่าวาฬจะดิ้นรุนแรง อาจจะเกิดกระทบกับกับคอนกรีตรอบๆ บ่อ จะบาดเจ็บได้เพราะน้ำตื้น และวาฬตัวใหญ่น่าจะหายเป็นปกติในระยะเวลาอันใกล้นี้
ขณะที่นายพันธุ์พงษ์ คงเดชอดิศักดิ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง กล่าวว่า ปัญหาโลมา และวาฬที่มีอยู่ในทะเลรอบอุทยานหมู่เกาะช้าง มักจะประสบปัญหาใน 2-3 ด้าน คือ เรื่องการทำประมงของผู้ประกอบการประมงในจังหวัดตราด และภายนอก
อีกเรื่องหนึ่งก็คือ มีกระบวนการล่าโลมา และวาฬเพื่อบริโภคตามความเชื่อที่ว่าบริโภคแล้วจะมีสมรรถภาพทางเพศดี ซึ่งปัญหาเหล่านี้ทางอุทยานจะร่วมมือกับผู้ประกอบการประมง และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการที่จะควบคุม และดูแลไม่ให้เกิดปัญหาขึ้น
สำหรับลูกวาฬที่เสียชีวิต ทางอุทยานฯ จะขอให้ทางสัตวแพทย์ฝังไว้ และขอซากเก็บไว้เป็นแหล่งท่องเที่ยวให้แก่นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาเกาะช้าง ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นว่าในหมู่อุทยานแห่งชาติเกาะช้างมีสัตว์หายากอาศัยอยู่