xs
xsm
sm
md
lg

แห้งแล้งบวกร้อนจัด ซ้ำเติมเกษตรกรปลูกแตงกวา-ดอกมะลิโคราช

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แห้งแล้งแถมร้อนจัด ส่งผลกระทบเกษตรกรปลูกแตงกวาและดอกมะลิ จ.นครราชสีมา เดือดร้อน วันนี้ ( 2 เม.ย.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - แห้งแล้งบวกร้อนจัด ส่งผลกระทบเกษตรกรปลูกแตงกวาและดอกมะลิโคราชเดือดร้อนหนัก เผยแตงกวาแคระแกร็นเหี่ยวเฉาลูกหงิกงอ ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ขณะดอกมะลิไม่ยอมออกดอกและเริ่มยืนต้นตายทำรายได้หายไปกว่าครึ่ง แหล่งน้ำแห้งขอดต้องใช้น้ำประปารดเพิ่มค่าใช้จ่ายซ้ำเติม

วันนี้ (2 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสภาวะภัยแล้งที่ยังคงทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสภาพอากาศร้อนได้จัดส่งผลกระทบต่อพืชผลการเกษตรของเกษตรกรในพื้นที่ จ.นครราชสีมาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกแตงกวาใน ต.สัมฤทธิ์ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นแหล่งปลูกแตงกวาที่สำคัญของ จ.นครราชสีมานั้นได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากต้นแตงกวาเหี่ยวเฉา และออกลูกเล็กแคระแกร็นหงิกงอ ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด

นางหมิ แร้นพิมาย อายุ 50 ปี อยู่บ้านเลขที่ 45/2 หมู่ 15 ต.สัมฤทธิ์ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา เกษตรกรผู้ปลูกแตงกวา บอกว่า หลังฤดูทำนาทุกปีตนจะหันมาปลูกแตงกวาบนพื้นที่กว่า 5 ไร่ เพื่อปรับสภาพดินให้สมบูรณ์และแตงกว่าเป็นพืชอายุสั้นใช้น้ำน้อยสามารถนำผลผลิตส่งขายสร้างรายได้ให้กับครอบครัวเป็นอย่างดี แต่ในปีนี้ต้องประสบปัญหาอย่างมาก เพราะแหล่งน้ำในคลองน้ำสาธารณะหมู่บ้านแห้งขอดประกอบกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงกลางวัน ทำให้ต้นแตงกวาเหี่ยวเฉาผลผลิตมีขนาดเล็ก แคระแกร็น ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดจึงขายได้ราคาไม่ดีเพราะไม่ค่อยมีคนซื้อไปรับประทาน ส่งผลทำให้เกษตรกรปลูกแตงกวาขายในเขต อ.พิมาย ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก

นอกจากนี้ ปัญหาภัยแล้งและอากาศร้อนจัดยังส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกดอกมะลิใน อ.โนนสูง จ.นครราชสีมาด้วย โดยนายสวัสดิ์ ชินกลาง อายุ 67 ปี อยู่บ้านเลขที่ 1 หมู่ ต.ธารปราสาท อ.โนนสูง เกษตรกรผู้ปลูกดอกมะลิบอกว่า ขณะนี้ต้นมะลิที่ปลูกไว้กว่า 5 ไร่ กำลังเหี่ยวเฉาและเริ่มยืนต้นตายเนื่องจากทนกับอากาศที่ร้อนจัดไม่ได้และไม่ยอมออกดอกให้เก็บผลผลิตหรือออกดอกมาไม่สมบูรณ์มีขนาดเล็ก เหี่ยวเฉา ส่งผลให้รายได้ลดลงอย่างมาก จากปกติเก็บดอกมะลิได้ วันละ 3-4 กิโลกรัมต่อไร่แต่ขณะนี้เก็บได้เพียง 1-2 กิโลกรัม/ไร่เท่านั้น ทั้งที่ขณะนี้ราคาดอกมะลิค่อนข้างดี กิโลกรัมละ 300-400 บาท แต่เกษตรกรกลับไม่มีผลผลิตขายทำให้สูญเสียรายได้ไปมากกว่าครึ่งหนึ่ง อีกทั้งปีนี้แหล่งน้ำต่างๆ ในเขต อ.โนนสูง แห้งขอดเกษตรกรต้องนำน้ำประปานำมารดต้นมะลิแทน ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มจากค่าน้ำที่แพงขึ้นอีก


กำลังโหลดความคิดเห็น