เชียงใหม่ - ชาวอำเภอลี้ร้องดีเอสไอสอบสัมปทานเหมืองแร่ หลังพบกลุ่มนายทุนยื่นขอขยายเวลาทำเหมืองที่กำลังจะสิ้นสุดในปี 57 ออกไปอีก หวั่นต้องทนทุกข์กันต่อไปอย่างไม่มีทั้งสิ้นสุด ทั้งที่ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา เจอแรงระเบิดจนกินไม่ได้ นอนไม่หลับ แถมบ้านเรือน รวมถึงพระธาตุ-รอยพระบาทเก่าแก่เกิดรอยร้าวเพียบ
พระครูวิจิตรวัฒนวิธาน เจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทผาผึ้ง ต.แม่ลาน อ.ลี้ จ.ลำพูน และนายสมพร สมลา อดีตกำนันตำบลแม่ลาน พร้อมตัวแทนชาวบ้านกว่า 40 คน พร้อมใจกันถือป้ายข้อความประท้วงการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ เดินทางมายื่นหนังสือต่อ พ.ต.ท.สมพร ชื่นโกมล ผอ.ศูนย์ดีเอสไอภาคเหนือ ขอให้ตรวจสอบนายทุนขอประทานบัตรเหมืองแร่หินอ่อนและแคลไซด์ ที่บ้านผาต้าย ม. 1 ต.แม่ลาน อ.ลี้ จ.ลำพูน เมื่อ1 เม.ย. 56
เนื่องจากเกรงว่าจะได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองดังกล่าว หลังจากทางอุตสาหกรรมจังหวัดทำ หนังสือมาถึงผู้ใหญ่บ้านผาต้ายว่า จะมีการระเบิดหินทำเหมืองแร่ขึ้นในพื้นที่กว่า 150 ไร่ ซึ่งพวกเขาไม่เห็นด้วยเพราะได้ประสบปัญหาต่างๆมาครั้งหนึ่งแล้ว จากที่เคยมีนายทุนสัมปทานระเบิดเหมืองกว่า 35 ปี จนชาวบ้านได้รับผลกระทบเกิดฝุ่นละออง และเสียงดัง พื้นดินเกิดความสั่นสะเทือน จนชาวบ้านไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติใน นอนไม่ได้ เพราะเกิดเสียงดังจากการระเบิดเขา ทั้งยังทำให้ทรัพย์สินบางส่วนเสียหายจากแรงระเบิดเช่น โอ่งน้ำ อาคารบ้านเรือน รวมไปถึงพระธาตุ แม้แต่รอยพระพุทธบาท ในวัดพระพุทธบาทผาผึ้ง ที่มีอายุหลายร้อยปี ก็มีร้อยร้าวจากแรงระเบิด
นายสมพร สมลา อดีตกำนันตำบลแม่ลาน เปิดเผยว่า เดิมทีนายทุนอ้างว่าจะทำเหมืองแร่แบบหาบ คือไม่ระเบิด แต่สุดท้ายเมื่อนายทุนรายเดิมมีหุ้นส่วนเพิ่ม ก็มีการระเบิดเขาขึ้น จากนั้นชาวบ้านกว่า 200 หลังคาเรือน ก็ต้องได้รับผลกระทบมานานหลายสิบปี กระทั่งล่าสุดทราบว่าสัมปทานทำเหมืองจะสิ้นสุดลงในปี 2557 ต่างก็ดีใจกันถ้วนหน้า แต่นายทุนรายเดิม ก็ขอขยายเวลาสัมปทานออกไปอีก โดยเปลี่ยนชื่อจาก บริษัทต้นตาล 99 เป็นบริษัทแม่ลาน
กระทั่ง 9 ก.พ. 56 ที่ผ่านมา ชาวบ้านจึงจัดเวทีลงประชามติ ปรากฏว่า มีชาวบ้าน 140 เสียงใม่เห็นด้วยที่จะให้ขยายเวลาสัมปทานทำเหมือง อีก 84 เสียงเห็นด้วย และได้นำส่งผลการประชามติต่ออุตสาหกรรมจังหวัดฯแล้ว แต่ชาวบ้านเกรงว่า ผลประชามติดังกล่าว อาจไม่สามารถยับยั้งนายทุนได้ จึงขอให้ ดีเอสไอ.ตรวจสอบอีกทางหนึ่งด้วย
เนื่องจากล่าสุดนายทุนดังกล่าวล่าสุดได้แจกจ่ายเงินให้ชาวบ้านครอบครัวละ 1,000 บาท เพื่อให้ลงมติประชาคมใหม่ ซึ่งบางครอบครัวก็ได้รับเงินไปแล้ว และบางครอบครัวไม่ได้รับเงิน เพราะมีนายหน้าหักหัวคิว จนเกิดปัญหาแตกแยกในหมู่บ้าน
ด้าน พ.ต.ท.สมพร ชื่นโกมล ผอ.ศูนย์ดีเอสไอภาคเหนือ กล่าวหลังรับเรื่องร้องเรียนว่า จะเร่งลงพื้นที่โดยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบ หากหน่วยงานใดไม่ลงพื้นที่ตรวจสอบด้วยเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ จะลงทำงานเองและจะสรุปเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด เพราะชาวบ้านมากกว่า 200 ครอบครัวได้รับความเดือนร้อนอยู่ในขณะนี้