xs
xsm
sm
md
lg

มือมืดลอบเผาศาลาการเปรียญ “วัดเกาะหงษ์ ปากน้ำโพ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครสวรรค์ - ประตูศาลาการเปรียญที่ตั้งโลงแก้วบรรจุสังขาร “หลวงพ่ออินทร์” วัดเกาะหงษ์ เมืองปากน้ำโพ ถูกมือมืดลอบเผาซ้ำ หลังก่อนหน้านี้ไม่กี่วันป้ายประชาสัมพันธ์งานสงกรานต์วัดก็ถูกเผามาแล้วครั้งหนึ่ง ตร.ตั้งปมสงสัย 3 เรื่องหลัก ทั้งขัดผลประโยชน์-เผาเอาเครื่องราง-คึกคะนอง

เช้าวันนี้ (29 มี.ค. 56) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า ประตูของศาลาอินทโชตอนุสรณ์ ศาลาการเปรียญ เก่าอายุ 50 ปี ตั้งอยู่ภายในวัดเกาะหงษ์ ต.ตะเคียนเลื่อน อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ และเป็นที่ตั้งโลงแก้วบรรจุสังขารของพระครูนิโรธธรรมประยุตร์ (หลวงพ่ออินทร์) ที่ชาวจังหวัดนครสวรรค์ เลื่อมใสศรัทธา ถูกมือมืดเผาจนได้รับความเสียหาย ชาวตะเคียนเลื่อนต่างสาปแช่งการกระทำของคนใจบาปในครั้งนี้

สอบถามพระพรชัย พระลูกวัดเกาะหงษ์ ทราบว่า ศาลาการเปรียญหลังนี้ไม่มีพระจำวัด เพราะไปจำวัดในกุฏิหลังอื่น ในช่วงเช้าวันนี้เวลาประมาณ 05.30 น.ขณะเตรียมตัวออกบิณฑบาต ขณะเดินผ่านมาบริเวณศาลาการเปรียญพบว่าประตูทั้ง 2 ด้านของศาลามีร่องรอยถูกไฟเผาจนได้รับความเสียหาย จึงรีบแจ้งเจ้าอาวาส และตำรวจตามลำดับ

ขณะที่นายสมมาศ คำสด ผู้ใหญ่บ้าน ม.7 ต.ตะเคียนเลื่อน อ.เมืองนครสวรรค์ เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้เพียง 1 สัปดาห์ ป้ายประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวงานประเพณีสงกรานต์ที่ติดไว้บริเวณหน้าวัดก็เพิ่งถูกเผาทำลายไป และวันนี้ก็มาถูกเผาประตูศาลาอีก เชื่อว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ของกลุ่มผู้ไม่หวังดี และขัดผลประโยชน์เรื่องรายได้ในด้านจากการจัดงานประเพณีสงกรานต์วัดเกาะหงษ์ ที่ถือได้ว่าเป็นงานที่ยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียงลำดับต้นๆ ในจังหวัดนครสวรรค์

“ทุกวันนี้ชาวบ้านและพระภายในวัดก็ต่างแตกเป็นสองฝ่ายอยู่เหมือนกัน”

อย่างไรก็ตาม ตำรวจ สภ.เมืองนครสวรรค์ได้ตั้งประเด็นในการก่อเหตุครั้งนี้ไว้ 3 ประเด็น คือ 1. ขัดผลประโยชน์การจัดงานประเพณีสงกรานต์วัดเกาะหงษ์ 2. เผาเพื่อจะขโมยเครื่องรางของขลัง และ 3. เผาเพราะความคึกคะนอง โดยตำรวจได้กั้นบริเวณที่เกิดเหตุเอาไว้เพื่อรอให้เจ้าหน้าพิสูจน์หลักฐานนครสวรรค์เข้าไปตรวจสอบสถานที่อย่างละเอียดเพื่อหาสาเหตุของเพลิงไหม้ในครั้งนี้ต่อไป

สำหรับ “วัดเกาะหงษ์” ถือเป็นวัดที่มีชื่อเสียงวัดหนึ่งในจังหวัดนครสวรรค์ เพราะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม มีหลักฐานปรากฏว่า รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสต้น ณ วัดแห่งนี้ ซึ่งภายในบริเวณวัดมีพระวิหารลักษณะศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย รัตนโกสินทร์ตอนต้น ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปเทพชุมนุมหลายองค์เขียนต่อเนื่องกันไปแบบงานจิตรกรรมสมัยอยุธยา








กำลังโหลดความคิดเห็น