xs
xsm
sm
md
lg

มข.ปลื้มผลวิจัยกระติบข้าวพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ส่งออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวทีแถลงข่าวนักวิจัยมข.พบสื่อมวลชน เรื่อง “การสร้างมูลค่าเพิ่มหัตถกรรมจักสานจากภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ กลุ่มกระติบข้าว บ้านยางคำ จังหวัดขอนแก่น”
ศูนย์ข่าวขอนแก่น-นักวิจัยคณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.ขอนแก่น โอ่ผลงานวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์กระติบข้าวบ้านยางคำ จ.ขอนแก่นประสบผลสำเร็จ จากผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่มีตลาดจำกัด พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายตรงความต้องการตลาด ชี้ขยายตลาดไปถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวที่กำลังซื้อสูง ทั้งสามารถแข่งขันได้ในตลาดต่างประเทศ

วันนี้ (27 มี.ค. 56) มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดกิจกรรมนักวิจัย มข.พบสื่อมวลชน ประจำเดือนมีนาคม 2556 เรื่อง “การสร้างมูลค่าเพิ่มหัตถกรรมจักสานจากภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ กลุ่มกระติบข้าว บ้านยางคำ จังหวัดขอนแก่น” โดยมี ผศ.ดวงจันทร์ นาชัยสินธุ์ พร้อมทีมนักวิจัย คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แถลงผลวจิจัย ณ ห้องประชุมสิริคุณากร 4 อาคารสิริคุณากร สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น

คณะนักวิจัยได้เลือกกลุ่มสานกระติบข้าวบ้านยางคำ ต.ยางคำ อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น ซึ่งจัดตั้งกลุ่มผลิตสินค้างานหัตถกรรมจักสาน โดยใช้ชื่อว่า “กระติบข้าวไผ่ตะวัน” โดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดมาแต่บรรพบุรุษ ลวดลายแบบดั้งเดิม การสานที่แน่นหนา ใช้ไม่ไผ่สีทองที่ปลูกภายในท้องถิ่น สามารถสานกระติบข้าวที่เก็บอุณหภูมิข้าวเหนียวได้ดี ซึ่งคณะนักวิจัยได้เข้าไปศึกษาพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชนแห่งนี้

การออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์สินค้า มีบทบาทอย่างยิ่งที่จะช่วยให้สินค้าที่ได้รับการพัฒนาและการคุ้มครองสินค้าภายในไม่ให้เกิดความเสียหาย เพิ่มโอกาสด้านตลาด ทั้งกระตุ้นให้ผู้บริโภคสนใจซื้อ เกิดการยอมรับจากผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ สามารถแข่งขันในด้านการตลาดผลิตภัณฑ์จักสานและยกระดับมาตรฐานสินค้าให้เป็นที่ยอมรับ

ผศ.ดวงจันทร์ นาชัยสินธุ์ อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะหัวหน้านักวิจัย เปิดเผยว่า กระบวนการสร้างสรรค์ของนักออกแบบร่วมกับกลุ่มผู้ผลิตกระติบข้าวบ้านยางคำ ได้กำหนดกลุ่มตลาดเป้าหมายใหม่ จากเดิมที่ตลาดจำกัดอยู่ในชุมชนท้องถิ่น เน้นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อและสามารถรับรู้ถึงคุณค่ารสนิยมของผลิตภัณฑ์ รวมถึงการสร้างตราสินค้า และออกแบบผลิตภัณฑ์ให้หลากหลาย

จุดเด่นของกระติบข้าวชาวบ้านยางคำที่เป็นเอกลักษณ์ คือ ใช้ไม้ไผ่สีทองเนื้อดี ทีมนักวิจัยได้ออกแบบให้มีรูปทรงที่แปลกตา สามารถทำเป็นปิ่นโต กระเป๋า ออกแบบเป็นรูปหัวใจ วงรี เพื่อให้เกิดประโยชน์ในลักษณะที่อเนกประสงค์มากกว่ากระติบข้าวแบบเดิม การใช้สีธรรมชาติจากเปลือกไม้ย้อมวัสดุไม้ไผ่ด้วยเทคนิคพิเศษ ทำให้สีไม้ติดทนนาน ทำให้สามารถขยายตลาดกลุ่มลูกค้า จากเดิมคือกลุ่มชาวบ้านทั่วไป ขยายครอบคลุมไปถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง

ผศ.ดวงจันทร์กล่าวต่อว่า นอกจากการเข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์กระติบข้าวแล้ว ทีมนักวิจัยยังมีแนวคิดสร้างสรรค์ นำเอาวัสดุธรรมชาติที่เหลือใช้ เช่น หนามไม้ไผ่ ผลน้ำเต้า มาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์อื่น เช่น โคมไฟ ที่แขวนชุดเสื้อผ้า ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุท้องถิ่นเหลือใช้เหล่านี้ มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจขึ้นมาได้

ผลจากการพัฒนาด้านการออกแบบและบรรจุภัณฑ์ให้กับกลุ่มสานกระติบข้าวบ้านยางคำ ทำให้สมาชิกในกลุ่มเกิดความภาคภูมิใจกับการผลิตที่มีเป้าหมาย ใฝ่รู้การสร้างงานออกแบบอย่างต่อเนื่อง สามารถเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนบ้านยางคำ และผลิตภัณฑ์จักสานบ้านยางคำสามารถเข้าไปคัดสรรได้เป็นสินค้า 3 ดาวและยังเป็นตัวแทนของจังหวัดขอนแก่น ล่าสุดมีคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์จักสานบ้านยางคำไปยังประเทศญี่ปุ่นแล้ว
ผศ.ดวงจันทร์ นาชัยสินธุ์ อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะหัวหน้านักวิจัย

นักวิจัยและชาวบ้านยางคำ โชว์ผลงานผลิตภัณฑ์จักสานที่ได้รับการพัฒนาจากทีมนักวิจัย



กำลังโหลดความคิดเห็น