อุดรธานี - อธิบดีกรมการจัดหางานบุกอุดรธานีแหล่งส่งออกแรงงานไทยไปต่างประเทศมากสุดของประเทศ เปิดอบรมเข้มป้องกันการหลอกลวงแรงงาน และลักลอบไปทำงานต่างประเทศ เผยแรงงานไทยติดคุกที่ไต้หวัน 60 คน
วันนี้ (25 มี.ค.) ที่โรงแรมเจริญโฮเต็ล จ.อุดรธานี นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน เป็นประธานเปิดโครงการเครือข่ายชุมชน ร่วมรณรงค์ป้องกันการหลอกลวง และลักลอบไปทำงานในต่างประเทศ โดยมีผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น อาสาสมัครแรงงาน และประชาชนเข้าร่วม 400 คน ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากสำนักงานจัดหางานจังหวัดอุดรธานี กรมการกงสุล และได้รับเกียรติจากนายสุวัฒน์ แก้วสุข ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ
นายประวิทย์กล่าวว่า จากที่มักปรากฏข่าวผ่านสื่อมวลชนว่ามีแรงงานไทยจำนวนไม่น้อยที่ออกไปทำงานต่างประเทศมีสภาพความเป็นอยู่ลำบาก โดยเฉพาะแรงงานสตรีที่มักถูกขบวนการค้ามนุษย์นำเข้าสู่กระบวนการค้าประเวณี ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายป้องกันจึงได้มีการจัดโครงการครั้งนี้ขึ้น โดยนำผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น เข้าร่วมเป็นเครือข่าย เน้นให้ความรู้ความเข้าใจในการเดินทางไปทำงานต่างประเทศที่ถูกต้อง เป็นการลดปัญหาการหลอกลวงจากนายหน้าเถื่อน ป้องกันปัญหาการลักลอบไปทำงานต่างประเทศ เพื่อให้เครือข่ายป้องกันการลักลอบ เร่งขยายผลสู่ประชาชนในพื้นที่ของตน
“ปัจจุบันยังมีความต้องการแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ แม้แต่ยุโรปที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ปัญหาสำคัญที่สุด คือ ค่าใช้จ่ายในการเข้าไปทำงาน ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เราพยายามที่จะลดค่าใช้จ่าย ที่ผ่านมาเราเริ่มจากประเทศอิสราเอล ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูงถึง 4 แสนบาท ก็พยายามลดให้เหลือเพียง 70,000 หมื่นบาท ต่อไปคือไต้หวัน ซึ่งพยายามทำจากค่าใช้จ่าย 120,000 บาท ให้เหลือ 14,000-15,000 บาท เพื่อให้คนไทยที่ไปทำงานไม่ต้องเอาที่นาไปจำนอง และมีเงินเหลือกลับบ้าน”
นายประวิทย์กล่าวต่อว่า กรมการจัดหางานก็มีโครงการต่างๆ เช่น เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ขณะนี้รัฐบาลพยายามที่จะนำเงินจากประกันสังคมไปฝากค้ำประกัน โดยให้คนหางานไปกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำ โไม่ต้องใช้ที่นาไปค้ำประกัน แต่จะใช้วิธีค้ำประกันกลุ่ม ขณะนี้ได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายไปทำงานต่างประเทศต่ำลง
“ที่เกาหลีเราส่งคนงานไปโดยรัฐบาล 100% ค่าใช้จ่ายเพียง 30,000 บาท เงินเดือนก็ค่อนข้างดี นอกจากนี้ แรงงานฝีมือที่แอฟริกาใต้ ประเภทช่างเชื่อม มีค่าใช้จ่ายเดินทางต่ำมาก แต่รายได้ค่อนข้างสูง ส่วนมาเก๊าก็มีความต้องการแรงงานฝีมือค่อนข้างมากเช่นกัน แต่แรงงานต้องฝึกภาษา สำหรับญี่ปุ่นต้องการแรงงานไปฝึกงาน ซึ่งอีก 2-3 เดือนเราจะเปิดรับสมัครและสอบ ส่วนแรงงานไทยขณะนี้มีปัญหา คือ ขาดวินัยในการทำงาน ขณะที่ปัญหานายจ้างไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือรายได้ไม่คุ้มกับงานมีน้อยมาก”
นายประวิทย์กล่าวด้วยว่า แรงงานไทยที่ติดคุกในไต้หวันนั้น ปัจจุบันน่าจะอยู่ที่ 50-60 คน เนื่องจากหลบหนีเข้าเมือง หรือหนีนายจ้าง โดยเมื่อปี 2555 คณะกรรมาธิการแรงงาน ช่วยเหลือแรงงานกลับประเทศไทย 60 คน ซึ่งอยากจะฝากไว้ว่าการไปทำงานก็ขอให้ทำงานตามสัญญา ไม่ใช่หนีนายจ้าง ซึ่งจะถูกดำเนินคดีและติดคุกตามกฎหมายประเทศนั้น