xs
xsm
sm
md
lg

จนท.ตรวจแปลงกระเทียมใกล้โรงไฟฟ้าแม่เมาะ เชื่อเป็นเชื้อรา แต่ “ใบไหม้” ยังไม่ชี้ขาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ลำปาง - เจ้าหน้าที่เกษตรลงพื้นที่ตรวจแปลงกระเทียมชาวบ้านนาสัก ใกล้โรงไฟฟ้าแม่เมาะ หลังใบไหม้ แห้งตายยกหมู่บ้าน เบื้องต้น เชื่อเป็น “เชื้อรา” ทำให้กระเทียมเน่าตาย แต่ “ใบไหม้” ยังหาสาเหตุแท้จริงไม่ได้ต้องส่งตรวจในแล็บ คาดทราบผลภายใน 1 สัปดาห์

วันนี้ (24 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.ลำปาง ว่า นายศุภผล โยวะผุย หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาการผลิต น.ส.ประวีณ์นุช สันพะเยาว์ รักษาการหัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดลำปาง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอแม่เมาะ และสำนักงานเกษตรตำบลนาสัก อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ลงพื้นที่ตรวจสอบแปลงกระเทียมของชาวบ้านใหม่รัตนโกสินทร์-กอรวก หมู่ 5 ต.นาสัก ซึ่งตั้งอยู่หลังโรงไฟฟ้าแม่เมาะกว่า 10 กิโลเมตร ที่ประสบปัญหาใบไหม้ และแห้งตายทั้งหมดทั้งที่ยังไม่ถึงเวลาเก็บเกี่ยว

น.ส.ประวีณ์นุช กล่าวว่า เบื้องต้น คาดว่าสาเหตุน่าจะเกิดจากเชื้อรา เนื่องจากความชื้นในดินมีสูง ประกอบกับที่ผ่านมา มีทั้งฝนสลับแดดเชื้อราจะเจริญเติบโตได้เร็ว จึงได้แนะนำให้เกษตรกรยกแปลงกระเทียมให้สูงขึ้น เพื่อไม่ให้มีน้ำขัง เพราะกระเทียมมีเพียงโรคเดียว คือ ความชื้นเท่านั้น ส่วนสาเหตุที่ทำให้ใบกระเทียมเป็นจุดและไหม้นั้นจะนำตัวอย่างส่งตรวจในห้องแล็บของสถาบันวิจัยและฝึกอบรมเกษตรลำปาง คาดว่าจะทราบผลภายในหนึ่งสัปดาห์ แล้วจะแจ้งให้กับเกษตรกรทราบ พร้อมกับแนะนำเรื่องการปลูกกระเทียมในปีต่อไป

นายศุภผล กล่าวว่า สำหรับโรคที่เกิดกับพืชนั้น หากเกษตรกรทราบเร็วก็แก้ปัญหาได้ โดยเฉพาะกระเทียม ตอนแรกที่เกษตรกรพบว่าใบเริ่มมีสีเหลือง หากแจ้งเจ้าหน้าที่และฉีดพ่นด้วยยาฆ่าเชื้อรา กระเทียมก็จเจริญเติบโตต่อไปได้ และเกษตรกรต้องไม่สูบน้ำมาล้างหลังปลูกกระเทียมได้ 90 วัน เพราะน้ำจะลงหัว และทำให้เน่าหากดินเกิดความชุ่มชื้น เพราะกระเทียมไม่ชอบความชุ่มชื้นจะทำให้เกิดเชื้อรา และแพร่ขยายได้ภายใน 10 วัน

“ส่วนกระเทียมที่เสียหายทั้งหมดไม่สามารถนำไปจำหน่าย หรือทำอย่างอื่นได้แล้ว คงต้องทิ้งไป ไม่สามารถนำกลับมาทำพันธุ์ได้อีก เพราะหัวไม่แก่ และมีเชื้อราแล้ว”

ด้านนายคมกฤต ภูมมะภูติ เจ้าพนักงานการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรตำบลนาสัก กล่าวว่า ที่จริงแล้วทางสำนักงานได้ของบประมาณจากกองทุนรอบโรงไฟฟ้า จัดซื้อเครื่องพ่น และยาฆ่าแมลงไว้บริการเกษตรกร โดยนำอุปกรณ์ และยาไว้ที่บ้านของอาสาภายในหมู่บ้าน แต่เกษตรกรไม่เข้าไปใช้ หรือจะเกิดจากสาเหตุที่เกษตรกรไม่ทราบ เพราะหากเกิดจากเชื้อรา และทราบหลังจากเกิดแล้วไม่เกิน 3 วัน สามารถนำยาฆ่าเชื้อราไปฉีดพ่น ก็จะช่วยไม่ให้ลุกลามได้ แต่เกษตรกรปล่อยทิ้งไว้ ซึ่งขณะนี้ไม่สามารถแก้ไขได้แล้ว เนื่องจากใบไหม้ และแห้งตายเกือบทั้งหมด

“ทางแก้ไข คือ ทางสำนักงานเกษตรตำบลนาสัก ขอให้เกษตรกรที่ปลูกกระเทียม และได้รับความเสียหายลงชื่อขึ้นทะเบียน พร้อมระบุจำนวนพื้นที่ที่เสียหายเพื่อจะได้จัดตั้งงบประมาณซื้อหัวพันธุ์ โดยขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า”


กำลังโหลดความคิดเห็น