ประจวบคีรีขันธ์ - ชาวประมงประจวบคีรีขันธ์ ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นช่วยกันสร้างบ้านให้ปลา หรือการทิ้งซั้งกอเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ และจะส่งผลดีต่อชาวประมง ซึ่งหลายหน่วยงานเชื่อว่าจะเป็นแบบอย่างในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำได้อีกทางหนึ่ง
วันนี้ (18 มี.ค.) นายวีระ ศรีวัฒนตระกูล ผู้ว่าราการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สำนักงานประมงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และชาวประมงพื้นบ้านในอ้าวคั่นกระได ได้นำภูมิปัญญาท้องถิ่นกลับมาช่วยกันสร้างบ้านให้ปลา หรือการทิ้งซั้งกอครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเท่าที่เคยมีมา ณ อ่าวคั่นกระได ต.อ่าวน้อย อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยใช้ชื่อ 86 พรรษาสร้างบ้านปลาถวายพ่อหลวง ซึ่งเริ่มดำเนินการแล้วโดยจัดสร้างยาวไปถึงวันแม่แห่งชาติ
โดยกลุ่มเหนือล้อได้นำทีมรถออฟโรด และทหารจงอางศึก กองกำลังสุรสีห์ ช่วยกันขนแท่งปูนขนาด 80 ซม. ลงไปส่งให้แก่เรือประมงกว่า 20 ลำ นำไม้ไผ่ที่ตัดมาผูกกับเชือก และช่วยกันตัดทางมะพร้าวนำมาถักเป็นเปีย จำนวนกว่า 1,000 ทาง จากนั้นร่วมกับทหารกองบิน 5 ขนไปใส่เรือประมงพื้นบ้าน นำออกไปสร้างบ้านให้ปลา ในระยะห่างชายฝั่ง 2 ไมล์ทะเล ซึ่งเป็นเขตอนุรักษ์ห้ามเรือประมงขนาดใหญ่ หรือเรือคราดหอยเข้าไปทำการประมง
นอกจากนี้ ยังได้ปล่อยปลานวลจันทร์ จำนวน 11,000 ตัว ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันอังคารที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2544 ให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง กรมประมง เพาะขยายพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเล เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงชุมชนด้านประมงชายฝั่ง และยังได้ปล่อยปลากะพงอีก 35,000 ตัว ลงสู่บ้านปลาที่สร้างถวายพ่อในครั้งนี้
นายวีระ ศรีวัฒนตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีนโยบายที่ให้หลายภาคส่วนต้องร่วมมือกันในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ล่าสุด กรมประมงได้ประกาศเขตอนุรักษ์ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จากห่างฝั่ง 3,000 เมตร ขยายเพิ่มเป็น 5,400 เมตร จึงเป็นการลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างเรือประมงพื้นบ้านกับเรือคราดหอย และเรือประมงขนาดใหญ่ลงไปได้ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ดีที่ภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐ เกิดการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง ช่วยกันจัดทำกิจกรรมที่อนุรักษ์ท้องทะเลไทย เช่น ชมรมเหนือล้อที่สร้างโป่งให้ช้างระดับประเทศ ร่วมกับสมาคมรักษ์ทะเลไทย และชาวประมงพื้นบ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน ได้รวมพลังกันจัดกิจกรรม 86 พรรษาสร้างบ้านปลาถวายพ่อหลวง ถือว่าเป็นกิจกรรมที่น่าชมเชยเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งจะทำให้การอนุรักษ์ในครั้งนี้มีสัตว์น้ำมีปริมาณเพิ่มขึ้น
นายจีรศักดิ์ มีฤทธิ์ ชาวประมงพื้นบ้านอ่าวคั่นกระใด กล่าวว่า ในอดีตมีสัตว์น้ำมาก ออกเรือไม่ต้องไปไกลมากนักอยู่หน้าชายฝั่งก็พอกิน ได้ทั้งปลาทู ปลาอินทรี ปลากุเลา หมึก จากเรือ 10 ลำ ปัจจุบัน อ่าวคั่นกระใดมีเรือถึง 82 ลำ แย่งกันจับปลาทำให้เกิดวิกฤตเมื่อปี 2549 คนที่มีอาชีพทะเลจึงต้องนำเรือไปจับปลาที่อื่นไม่ได้อยู่กับครอบครัว แต่ต้องถูกเขาไล่กลับมาเพราะไปจับปลาหน้าบ้านเขา และถูกต่อว่า จึงกลับบ้านมานั่งประชุมกัน และเลิกใช้อวนตาถี่ พร้อมทั้งทดลองทำซั้งกอ เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ แต่ห้ามจับสัตว์น้ำในบริเวณซั้งกอ ซึ่งพบว่าได้ผลชัดเจน ปลาได้เข้ามาอาศัยอยู่ เมื่อเติบโตก็ออกหากินทั่วไป ทำให้ชาวประมงจับสัตว์น้ำได้มากมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงมีการสร้างซั้งกอเรื่อยมา
ขณะเดียวกัน นายโกศล จิตจำลอง นายกสมาคมประมงพื้นบ้านคั่นกระใด กล่าวว่า การฟื้นฟูสภาพท้องทะเล โดยการนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นการสร้างซั้งกอที่ใช้วัสดุแท่งปูนขนาดเล็กน้ำหนักประมาณ 80 กิโลกรัม นำเชือกมัดไม้ไผ่ขนาดใหญ่ และมัดทางมะพร้าวถักเป็นพวงไปทิ้งในพื้นที่ระยะห่างจากชายฝั่ง 2 ไมล์ทะเล หน้าหมู่บ้านคั่นกระได เพื่อทดแทนปะการังที่เสียหายไป เพื่อให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ เหมาะแก่การเพาะพันธุ์ การอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน ที่ผ่านมา ชาวประมงได้ทำการทิ้งซั้งกอมาแล้ว ซึ่งจากการติดตามผลดำเนินงานในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีทั้งปลา ทั้งหมึก ทั้งกุ้ง ทั้งปู และสัตว์น้ำหลากหลายชนิดที่หายไปได้กลับมา อีกทั้งกิจกรรมการสร้างซั้งกอยังเกิดความสามัคคีในชุมชนอย่างดีเพราะทำคนเดียวไม่ได้ อย่างไรก็ตาม การสร้างบ้านปลาในครั้งนี้ไม่ได้ใช้งบประมาณของทางราชการแต่อย่างใด
การสร้างซั้งกอในครั้งนี้เห็นได้ว่าชาวประมงพื้นบ้านมีความเข้มแข็ง หน่วยงานรัฐเพียงเข้ามาเสริมในส่วนที่เขาต้องการเท่านั้น และเชื่อว่าการสร้างซั้งกอครั้งนี้ ที่หลายหน่วยงานเข้ามามีส่วนร่วมเช่นนี้จะเป็นแบบอย่างที่ดีในการอนุรักษ์ทรัพยากรในอนาคต