xs
xsm
sm
md
lg

เด็กไทยสายวิทย์ร่วม “ค่ายลำแสงแห่งอนาคต แสงซินโครตรอน”คึกคัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย สายวิทยาศาสตร์ จากทั่วประเทศเข้าร่วม“ค่ายลำแสงแห่งอนาคต...แสงซินโครตรอน” ครั้งที่ 2 ที่ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จ.นครราชสีมา คึกคัก วันนี้ ( 15 มี.ค.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- เปิด “ค่ายลำแสงแห่งอนาคต...แสงซินโครตรอน” ครั้งที่ 2 นักเรียนมัธยมปลายสายวิทย์จากทั่วประเทศเข้าร่วมงานคึกคัก พร้อมสัมผัสเรียนรู้เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน แห่งเดียวของไทยใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เผยหวังกระตุ้นเยาวชนได้ตระหนักรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันนี้ (15 มี.ค.) ที่ห้องปฏิบัติการแสงสยาม สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จ.นครราชสีมา ดร.ประพงษ์ คล้ายสุบรรณ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและปฏิบัติการเครื่องเร่งอนุภาค สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เป็นประธานเปิดโครงการ “ค่ายแสงแห่งอนาคต ... แสงซินโครตรอน” ครั้งที่ 2 โดยมีนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย สายวิทยาศาสตร์ ที่ผ่านการคัดเลือกจากทั่วประเทศ รวมกว่า 40 คน เข้าร่วมกิจกรรมคึกคัก

ทั้งนี้เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจด้านแสงซินโครตรอนสู่เยาวชน และส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กรของการเป็นห้องปฏิบัติการวิจัยด้านเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนระดับชาติและภูมิภาคอาเซียน รวมถึงเปิดโอกาสให้เยาวชนที่สนใจด้านฟิสิกส์ ได้สัมผัสกับการทำงานในห้องปฏิบัติการแสงสยาม ซึ่งเป็นที่ตั้งของเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

ดร.ประพงษ์ กล่าวว่า เยาวชนที่เข้าร่วม“ค่ายแสงแห่งอนาคต…แสงซินโครตรอน” ครั้งนี้จะได้สัมผัสเรียนรู้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอน เริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิตโดยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน ซึ่งถือเป็นเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และการนำไปใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมทั้งการทำกิจกรรมกลุ่มทางวิทยาศาสตร์ร่วมกับนักวิจัยพี่เลี้ยง

โดยสถาบันฯ ได้จัดบรรยายพิเศษพื้นฐานด้านฟิสิกส์ เรื่องโครงสร้างอะตอมพื้นฐาน, ธรรมชาติของอิเล็กตรอนและการเกิดอิเล็กตรอนอิสระ, อันตรกิริยาระหว่างอิเล็กตรอน สนามไฟฟ้า และสนามแม่เหล็กไฟฟ้า , การเกิดแสงซินโครตรอน, การประยุกต์ใช้แสงซินโครตรอน และเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นให้เยาวชนได้ตระหนักรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสร้างความเข้มแข็งสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ต่อไป



ดร.ประพงษ์  คล้ายสุบรรณ์
กำลังโหลดความคิดเห็น