xs
xsm
sm
md
lg

แล้งวิกฤต “เขื่อนราษีไศล” เปิดระบายน้ำเพียง 1 ประตู ทำ “แม่มูล” แห้งขอด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แล้งวิกฤต เขื่อนราศีไศล จ. ศรีสะเกษ เปิดประตูระบายน้ำเพียง  1 บาน ทำให้แม่น้ำมูลแห้งขอด เพื่อเก็บกักไว้ให้มีน้ำเพียงพอเพื่อการอุปโภคบริโภคตลอดหน้าแล้งปีนี้
ศรีสะเกษ - แล้งวิกฤต “เขื่อนราษีไศล” จ.ศรีสะเกษ เปิดประตูระบายน้ำเพียง 1 บาน ทำแม่น้ำมูลแห้งขอด และอนุญาตให้เกษตรกร 3 จังหวัดตามลำน้ำมูลทำนาปรังได้เพียง 2,000 ไร่ เพื่อเก็บกักไว้ให้มีน้ำเพียงพอเพื่อการอุปโภคบริโภคตลอดหน้าแล้งปีนี้

วันนี้ (5 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่เขื่อนราษีไศล ต.หนองแค อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ขณะนี้ระดับน้ำท้ายเขื่อนราษีไศลแห้งขอดจนสามารถมองเห็นพื้นทรายใต้แม่น้ำมูลที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมาอย่างชัดเจน เนื่องจากเขื่อนราษีไศลเปิดประตูระบายน้ำเพียง 1 ประตู จากที่มีอยู่ทั้งสิ้น 7 ประตู ซึ่งมีน้ำถูกปล่อยลงมาจากเขื่อนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่งผลให้เกษตรกรและประชาชนที่อยู่ท้ายเขื่อนต้องใช้น้ำอย่างประหยัดและทำนาปรังได้เพียงจังหวัดละไม่กี่ร้อยไร่

นายจำรัส สวนจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง (เขื่อนราษีไศล, เขื่อนหัวนา) กล่าวว่า เขื่อนราษีไศลปกติแล้วระดับเก็บกักน้ำอยู่ที่ 119 ม.รทก. (ระดับน้ำทะเลตอนกลาง) แต่ขณะนี้มีระดับเก็บกักน้ำเพียง 109.93 ม.รทก. หรือประมาณ 84% ของความจุระดับน้ำที่เก็บกักทั้งหมด โดยหน้าเขื่อนราษีไศลมีสถานีสูบน้ำ 2 แห่ง ทำให้ประชาชนที่อยู่หน้าเขื่อนไม่มีปัญหาเกี่ยวกับน้ำอุปโภคบริโภครวมทั้งน้ำดิบที่ใช้ในการผลิตน้ำประปา

ส่วนที่มีการเปิดประตูระบายน้ำเพียงช่องเดียวนั้นเพื่อเลี้ยงระดับน้ำท้ายเขื่อนราษีไศล แต่ด้านท้ายของเขื่อนราษีไศลลงไปอีกประมาณ 130 กิโลเมตร (กม.) จะมีเขื่อนหัวนาอยู่แล้วเพื่อหล่อเลี้ยงระบบนิเวศของแม่น้ำมูล

นายจำรัสกล่าวต่อว่า การเปิดประตูระบายน้ำเพียงประตูเดียวนั้น เพราะต้องการเก็บกักน้ำให้เพียงพอในหน้าแล้งนี้สำหรับเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนและช่วยเหลือเกษตรกรที่ทำนาปรัง ซึ่งปีนี้อนุญาตให้เกษตรกรทั้ง 3 จังหวัดตามลำน้ำมูล ทำนาปรังประมาณ 2,000 ไร่ จากที่เสนอขอทำนาปรังมากว่า 10,000 ไร่ ดังนั้นน้ำที่เก็บกักไว้ในเขื่อนราษีไศลคงจะเพียงพอหล่อเลี้ยงข้าวนาปรังตามจำนวนที่ได้อนุญาตให้ทำได้

ส่วนเขื่อนหัวนา ขณะนี้มีระดับเก็บกักน้ำอยู่ที่ 40% ในเดือน เม.ย.นี้จะมีการระบายน้ำเพื่อเลี้ยงข้าวนาปรังได้ไม่เกิน 3,000 ไร่เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตรเพียงพอตลอดหน้าแล้งปีนี้เช่นกัน



นายจำรัส  สวนจันทร์  ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง
กำลังโหลดความคิดเห็น