xs
xsm
sm
md
lg

ผวาเอฟทีเอ-เออีซีทำหอมหัวใหญ่ไทยราคาร่วง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เชียงใหม่ - สำรวจพบเกษตรกรผวาเอฟทีเอ เออีซี ทำราคาหอมหัวใหญ่ในประเทศตก โพลชี้เกษตรกรต้องการประกันราคา หาตลาดใหม่เพิ่ม

วันนี้ (20 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุราคาหอมหัวใหญ่ปีนี้ลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยประเทศคู่แข่ง คือ จีน สหรัฐอเมริกา ส่งออกหอมหัวใหญ่ไปญี่ปุ่นในราคาถูกลง ทำให้ราคาที่เกษตรกรขายได้มีแนวโน้มลดลงด้วยนั้น

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สำรวจความคิดเห็นของเกษตรผู้ปลูกหอมหัวใหญ่ 4 จังหวัด (เชียงใหม่ เชียงราย นครสวรรค์ กาญจนบุรี) ปีการผลิต 55/56 ฝนหัวข้อ “สถานการณ์การผลิตและทิศทางราคาหอมหัวใหญ่” จำนวน 420 ตัวอย่าง พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ 56.9% เห็นว่าปีนี้ผลผลิตจะลดลง เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน ศัตรูพืชรบกวน ปลูกลดลง ขณะที่อีก 35.7% เห็นว่าผลผลิตเท่าเดิม มีเพียง 7.4% ที่เห็นว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้น

ส่วนราคาของหอมหัวใหญ่นั้น เกษตรกร 56.2% เห็นว่าจะมีราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตน้อย อาจจะขาดแคลน แต่ความต้องการของตลาดไม่ได้ลดลง แต่ 34.8% เห็นว่าราคาเท่าเดิม และอีก 9.0% เห็นว่าราคาจะลดลง และเมื่อถามถึงความพึงพอใจในราคาหอมหัวใหญ่นั้น พบว่าต้องการราคาขายเฉลี่ย 15 บาทต่อกิโลกรัม

ส่วนประเด็นเรื่องการเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) และการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปี 2558 จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตและราคาหรือไม่ พบว่าเกษตรกร 94.9% เห็นว่าส่งผลกระทบ มีเพียง 5.1% ที่เห็นว่าไม่ส่งผลกระทบ

ขณะที่ข้อได้เปรียบและเสียเปรียบของหอมหัวใหญ่ไทย เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง พบว่า 53.5% เห็นว่าหอมหัวใหญ่ไทยได้เปรียบที่มีรสชาติดี อร่อย ขณะที่ 36.5% เห็นว่ามีคุณภาพ สด ใหม่ และ 10.0% เห็นว่าสินค้าเกษตรไทยมีชื่อเสียงด้านคุณภาพและความน่าเชื่อถืออยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม เกษตรกร 78.2% เห็นว่าต้นทุนการผลิตของไทยสูงกว่าคู่แข่ง ส่วน 9.1% เห็นว่าไทยมีพื้นที่ให้ลักลอบนําเข้าผลผลิตง่าย สภาพอากาศโลกแปรปรวน ส่งผลให้ผลผลิตเสียหายง่ายกว่า และ 3.6% เห็นว่าเกษตรกรไทยไม่สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้เอง

เมื่อสอบถามความต้องการให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนเรื่องใด พบว่า 74.1% ต้องการให้มีการประกันราคาหอมหัวใหญ่ ขณะที่ 14.6% ต้องการให้หาตลาดใหม่รองรับ อีก 6.3% ต้องการให้ส่งเสริมด้านความรู้ด้านการผลิต และ 5.0% ต้องการให้ควบคุมและกีดกันการนำเข้าผลผลิตจากเพื่อนบ้าน
กำลังโหลดความคิดเห็น