จันทบุรี - พระสงฆ์ ร่วมกับชาวบ้านหมู่ที่ 9 และหมู่ที่ 10 ตำบลขุนซ่อง จังหวัดจันทบุรี รวบรวมเงินซื้อสับปะรด ผักสด และหัวมันมาเทให้แก่โขลงช้างป่านับสิบตัวที่หนีแล้งลงมาจากเขาแหลม เพื่อป้องกันโขลงช้างป่าเข้ามากัดกินพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้าน และเป็นการให้ช้างป่าอยู่ร่วมกับชาวบ้านได้เข้าสู่วันที่ 8
ความคืบหน้าเกี่ยวกับโขลงช้างป่าที่หนีแล้งลงมาจากเขาแหลม เข้ามากัดกิน และเหยียบย่ำพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านในหมู่ที่ 9 และหมู่ที่ 10 ตำบลขุนซ่อง อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี ได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง ล่าสุด พระอาจารย์มนัส มัตตะชาโต เจ้าสำนักปฏิบัติธรรมฟื้นฟูจิตกรรมฐานคลองโป่งเขาแหลม ได้ร่วมกับชาวบ้านทั้ง 2 หมู่บ้าน รวบรวมเงินไปจัดซื้อสับปะรด จำนวน 2,800 ลูก ผักสดที่พ่อค้าแม่ค้าในตลาดสดโบว์ลิ่งบริจาคมากว่า 30 กระสอบ และหัวมันสำปะหลัง จำนวนกว่า 10 ถุง นำไปเทให้แก่โขลงช้างป่านับสิบตัวที่มีความหิวโซเป็นอย่างมาก และมาสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้าน
เนื่องจากบนเขาแหลมไม่มีแหล่งน้ำ และแหล่งอาหารให้แก่โขลงช้างป่าโขลงนี้ได้กินเป็นอาหารแล้ว ทำให้โขลงช้างป่าต้องอพยพลงมาหากินในพื้นที่ของชาวบ้านเพื่อความอยู่รอด ทำให้พระอาจารย์มนัส ได้เห็นความสำคัญของโขลงช้างป่าที่เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองมานาน และเห็นถึงความเดือดร้อนของชาวบ้านทั้ง 2 หมู่บ้าน ที่โขลงช้างป่าลงมากัดกิน และเหยียบย่ำพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านเสียหายทุกวันทุกคืน จึงได้มีโครงการทำอย่างไรให้โขลงช้างป่าอยู่ร่วมกับชาวบ้านได้
โดยได้มีการรวบรวมเงินของชาวบ้าน และเงินที่ชาวบ้านมาทำบุญ หรือบริจาคให้แก่ทางสำนักปฏิบัติธรรมฟื้นฟูจิตกรรมฐานคลองโป่งเขาแหลม มาดำเนินการจัดซื้ออาหารให้แก่โขลงช้างป่าเพื่อให้โขลงช้างป่าได้มีอาหารกินโดยไม่ไปรบกวน หรือสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านอีก ซึ่งในวันนี้ พระอาจารย์มนัส จึงได้ไปติดต่อขอซื้อสับปะรดตามแผงขายผลไม้ในพื้นที่อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี มาเทบริเวณโขลงช้างป่าที่ลงจากเขาแหลม ผ่านมาบริเวณทางเดินหน่วยพิทักษ์ป่าแก่งหางแมว โดยมีชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ และพระสงฆ์ช่วยกันนำสับปะรดลงจากท้ายรถกระบะที่เป็นอาหารของช้างป่า
เพื่อให้โขลงช้างป่าได้มีอาหารกิน และไม่เข้าไปก่อความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านเพิ่มขึ้น และยังเป็นการให้ช้างป่าสามารถอยู่ร่วมกับชาวบ้านได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้นับเป็นโครงการที่ดี และทางสำนักปฏิบัติธรรมฟื้นฟูจิตกรรมฐานคลองโป่งเขาแหลมจะดำเนินการโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะหมดแล้ง และโขลงช้างป่ากลับขึ้นเขาไป
ทั้งนี้ ชาวบ้านทั้ง 2 หมู่บ้านเห็นดีด้วยกับโครงการที่พระอาจารย์มนัสทำอยู่ในส่วนนี้ โดยนายปรีชา พิมพ์ม่วง อายุ 30 ปี ชาวบ้านกล่าวว่า เป็นผลดีจะทำให้โขลงช้างป่าไม่เข้าไปรบกวน และสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านอีก หรือหากเข้าไปทำลายกัดกินพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านก็จะลดน้อยลง รวมทั้งตนเองไม่ต้องมาเหนื่อยในการเฝ้าดูแล และขับไล่โขลงช้างป่าทุกวันทุกคืนอีก ชาวบ้านก็จะได้ออกมาใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติสุข และไม่เกิดการหวาดกลัวกับโขลงช้างป่าอีกต่อไป