ศูนย์ข่าวศรีราชา - อบจ.จันทบุรี นำเครื่องจักรกลลงขุดลอกคลอง และทำคันดิในพื้นที่อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี หวังแก้ไขปัญหาแย่งน้ำ และปัญหาภัยแล้งให้ชาวบ้านใน 4 หมู่บ้าน 2 ตำบล 1 อำเภอ
จากกรณีที่ชาวบ้านใน 4 หมู่บ้าน ประกอบด้วยหมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 2 ตำบลจันเขลม และชาวบ้านหมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 6 ตำบลคลองพลู อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี เกิดปัญหาการแย่งน้ำเพื่อการเกษตร บริเวณฝายเก็บน้ำบ้านตาลิ่น ซึ่งเป็นฝายเก็บกักน้ำขนาดกลาง จนปัญหาปานปลาย ทำให้นายศิริศักดิ์ ศิริมังคะลา นายอำเภอเขาคิชฌกูฏ นายณรงค์ ฐานธรรม สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี เขตอำเภอเขาคิชฌกูฏ นายสุเนส เฉียงเหนือ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลจันทเขลม และนายสมชาย นาสวน นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลคลองพลู รวมทั้งผู้นำท้องถิ่นทั้ง 4 หมู่บ้าน ต้องลงพื้นที่แก้ไขปัญหาให้แก่ชาวบ้าน
เพื่อทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ป้องกันปัญหาการแย่งน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นอีก ซึ่งทางอำเภอได้ตกลงจะมีการนำเครื่องจักรกลมาดำเนินการขุดลอกคลอง และทำคันดินกั้นฝายเก็บกักน้ำบ้านตาลิ่นให้สูง 1.50 เมตร และช่องแบ่งน้ำสายแยก และแบ่งน้ำช่องสายน้ำเดิมให้สูง 1.50 เมตร เพื่อให้การระบายน้ำลงสู่พื้นที่ตอนล่าง และตอนบนมีปริมาณน้ำไหลเท่าๆ กัน เพื่อให้ชาวบ้านทั้ง 4 หมู่บ้าน ไม่เกิดการแย่งน้ำเพื่อการเกษตรขึ้นอีกนั้น
ในวันนี้ (18 ม.ค.) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ได้ร่วมกันนำเครื่องจักรกลรถแบ็กโฮ ลงพื้นที่เพื่อดำเนินการขุดลอกคลอง และทำคันดินเก็บกักน้ำตามที่อำเภอเขาคิชฌกูฏได้รับปากกับชาวบ้านไว้ และเพื่อไม่ให้ผลผลิตที่มีทั้งกล้วย มังคุด ลองกอง ทุเรียน และสวนยางพาราในเนื้อที่รวมกว่า 3,000 ไร่ ได้รับความเสียหาย ซึ่งการนำเครื่องจักรกลต่างๆ เข้าดำเนินการในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี ส่วนค่าเชื้อเพลิง เทศบาลทั้ง 2 แห่งเป็นผู้รับผิดชอบ
โดยนางนกน้อย ควรสถาน ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาดังกล่าว กล่าวว่า พอใจที่ทางอำเภอ ผู้นำท้องถิ่นได้เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาให้แก่ชาวบ้านทั้ง 4 หมู่บ้าน ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านมีน้ำเพื่อการเกษตร และทำให้ผลผลิตไม่เกิดความเสียหาย
ด้านนายณรงค์ ฐานธรรม สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี เขตอำเภอเขาคิชฌกูฏ กล่าวว่า การนำรถแบ็กโฮเข้ามาขุดลอก และทำคันดินในครั้งนี้ ก็เพื่อลดปัญหาการแย่งน้ำของชาวบ้าน ส่วนในระยะยาวจะมีการดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยการจัดสร้างฝายแม้วเป็นช่วงๆ เพื่อชะลอน้ำให้ชาวบ้าน และเกษตรกรได้มีน้ำใช้ได้อย่างเพียงพอต่อไป