เชียงราย - เมืองพ่อขุนฯ เดินเครื่องบำบัดคนติดยาเสพติด ตลอดปี 55 มีคนผ่านการบำบัดแล้วร่วมหมื่นคน ผู้ว่าฯ ยกสถิติ สสจ.ย้ำเตือนมักมีคนหวนกลับไปเสพซ้ำอีก ขณะที่ สสจ.วางโปรแกรมติดตามผล 4 ครั้งตั้งแต่วันนี้ (3 ธ.ค.) ถึงปีหน้า
วันนี้ (3 ธ.ค.) นายพงษ์ศักดิ์ วังเสมอ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการติดตามผู้เสพผู้ติด จ.เชียงราย ที่ลานศาลากลางจังหวัดฯ เพื่อนำผู้ที่เสพยาเสพติดและกำลังเลิกเข้าร่วมโครงการตามยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด โดยมีนายแพทย์ชำนาญ หาญสุทธิเวชกุล นายแพทย์สาธารณสุข จ.เชียงราย นำเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและผู้ป่วยที่เสพยาเสพติดจำนวน 500 คนเข้าร่วม เป็นผู้สมัครใจบำบัด 400 คน และบังคับบำบัด 100 คน ขณะที่ทั่วจังหวัดมีผู้เสพเข้าร่วมโครงการทั้ง 18 อำเภอรวมทั้งหมดจำนวน 7,481 คน
ซึ่งพิธีเปิดโครงการจัดให้มีการกล่าวปฏิญาณว่าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเป็นคนดีต่อสังคมโดยไม่หันกลับไปเสพยาเสพติดอีก ก่อนที่นายพงษ์ศักดิ์พร้อมหัวหน้าส่วนราชการได้ทำการผูกข้อมือเพื่อรับขวัญและให้กำลังใจผู้เข้าร่วมโครงการให้ฟันฝ่าการบำบัดและประเมินผลต่อไป
นายพงษ์ศักดิ์กล่าวว่า ตามที่มีการกล่าวกันว่าโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อคืนคนดีสู่สังคมนั้นไม่ได้หมายความว่าผู้เข้าร่วมโครงการเป็นคนชั่วหรือคนไม่ดี เพียงแต่พวกเราอาจจะพลาดพลั้งกันไปชั่วขณะหนึ่ง แต่เมื่อได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการและหันมาทำการบำบัดให้ได้ผลก็จะกลับคืนสู่สังคมได้อย่างปกติ รวมทั้งผู้เสพถือว่าเป็นเพียงผู้ป่วย ไม่ใช่ผู้ที่ไม่ดี ดังนั้นควรใช้คำว่าคืนคนเข้มแข็งสู่สังคมมากกว่า
อย่างไรก็ตาม จากการที่ทางสำนักงานสาธารณสุขแจ้งก็ทำให้ทราบว่ามักจะมีผู้ที่ประสบความสำเร็จในการบำบัดประมาณ 80% แต่อีก 20% มักจะกลับไปเสพอีก จึงคาดหวังว่าผู้เข้าร่วมจะได้รับทราบว่าปัญหานี้คือโรคร้ายที่ต้องร่วมกันแก้ไข เพราะการติดยาเสพติดนำไปสู่ปัญหาอาชญากรรมอื่นๆ มากมาย เช่น โจรกรรมทรัพย์สิน ฯลฯ และเมื่อเราเป็นคนเข้มแข็งก็จะได้กลับคืนสู่สังคมอย่างปกติสุขต่อไป
ด้านนายแพทย์ชำนาญกล่าวว่า ในปี 2555 พบว่าใน จ.เชียงรายมีผู้เสพและผู้ติดผ่านการบำบัดรักษาจำนวน 7,481 คน และตามแผนแล้วในปี 2556 จะมีการติดตามผู้ผ่านการบำบัด ช่วยดูแลหลังบำบัด และการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง โดยมีเป้าหมายผู้ผ่านการบำบัดจะไม่กลับไปเสพซ้ำอีกมากกว่า 80% ซึ่งในการติดตามที่เชียงรายนั้นจะดำเนินการวันที่ 3 ธ.ค. 2555, วันที่ 14 ก.พ. 2556, วันที่ 26 มิ.ย. 2556 และวันที่ 12 ส.ค. 2556 รวมทั้งหมด 4 ครั้ง
“เมื่อผู้เสพผ่านการรายงานตัวและกลับเข้าสู่ชุมชนแล้วทุกภาคส่วนจะมีส่วนร่วมในการติดตามและเฝ้าระวัง รวมทั้งให้การช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำทางจิตวิญญาณ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ปกครอง ญาติ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน อาสาสมัครทั่วไป เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติงานในพื้นที่เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำ ฯลฯ ต่อไป” นายแพทย์ชำนาญกล่าว