xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนาบุรีรัมย์ร้องเปิดจุดจำนำข้าวนอกพื้นที่อีก 2 อำเภอ-โวยโรงสีกดราคา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เกษตรกร2 อำเภอ  จ.บุรีรัมย์  เรียกร้องให้คณะอนุกรรมการฯ ระดับจังหวัด  เร่งพิจารณาเปิดจุดจำนำนอกพื้นที่ทั้ง 2 อำเภอ  เพื่อลดปัญหาความเดือดร้อนจากภาระค่าขนส่ง (แฟ้มภาพ)
บุรีรัมย์ - เกษตรกร 2 อำเภอในบุรีรัมย์ที่ไม่มีจุดรับจำนำข้าวในพื้นที่ ออกมาเรียกร้องให้คณะอนุกรรมการฯ ระดับจังหวัด หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพิจารณาเปิดจุดจำนำนอกพื้นที่ทั้ง 2 อำเภอ เพื่อลดปัญหาความเดือดร้อนจากภาระค่าขนส่ง หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วกว่า 30% ต้องจำยอมนำไปขายให้โรงสีในราคาต่ำ เผยทั้งจังหวัดชาวนานำเข้าร่วมจำนำแล้ว 2 หมื่นตัน ขณะคณะอนุกรรมการฯ อ.หนองกี่ เร่งถกเปิดจุดจำนำตามม็อบกดดันขู่ปิดถนน

วันนี้ (19 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตรกร 2 อำเภอ ของ จ.บุรีรัมย์ คือ อ.นางรอง และ อ.ชำนิ ได้ออกมาเรียกร้องให้คณะอนุกรรมการติดตามกำกับดูแลการรับจำนำข้าวระดับจังหวัด จ.บุรีรัมย์ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งพิจารณาอนุมัติเปิดจุดรับจำนำนอกพื้นที่โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2555/65 ในเขตพื้นที่ อ.ชำนิ และ อ.นางรอง ซึ่งไม่มีจุดรับจำนำข้าวในพื้นที่ เพื่อลดปัญหาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรจากภาระค่าใช้จ่ายในการขนส่งข้าวไปจำนำยังจุดรับจำนำที่ห่างไกล

ทั้งนี้ เนื่องจากขณะนี้เกษตรกรได้เก็บเกี่ยวผลผลิตออกสู่ตลาดแล้วกว่าร้อยละ 30 ซึ่งบางส่วนต้องยอมนำไปขายให้แก่โรงสีข้าวในราคาที่ต่ำเพียงกิโลกรัมละ 12-13 บาท เพราะต้องการนำเงินไปใช้จ่าย เนื่องจากในพื้นที่ไม่มีจุดรับจำนำ หากขนไปขายยังต่างอำเภอก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้ในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ได้เปิดจุดรับจำนำข้าวในพื้นที่ไปแล้ว 16 จุด จากโรงสีข้าวที่เข้าร่วมโครงการฯ ทั้งหมด 19 จุด

ส่วนจุดรับจำนำนอกพื้นที่ได้ผ่านการอนุมัติจากคณะอนุกรรมการฯ ระดับจังหวัดไปก่อนหน้านี้ จำนวน 11 จุดใน 8 อำเภอนั้น ขณะนี้สามารถเปิดรับจำนำได้แล้ว 1 จุด คือ สหกรณ์การเกษตร จำกัด อ.หนองหงส์ ส่วนที่เหลืออีก 10 จุดอยู่ระหว่างการวางเงินค้ำประกัน และเสนอองค์การคลังสินค้า (อคส.) พิจารณาคัดสรรโรงสีจากนอกเขตจังหวัดเข้ามาเปิดจุดจำนำ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่เกษตรกร ซึ่งคาดว่าจะสามารถทยอยเปิดได้ภายในสัปดาห์นี้

นายธีรพงษ์ สวัสดีลาภา อายุ 55 ปี ชาวนา ต.บ้านยาง อ.ชำนิ บอกว่า ปีนี้ทำนาทั้งหมด 25 ไร่ ขณะนี้เก็บเกี่ยวไปแล้ว 5 ไร่เพื่อนำไปขายให้แก่โรงสีข้าวในเขตพื้นที่ อ.ลำปลายมาศ ถึงแม้จะได้ราคาต่ำเพียงกิโลกรัมละ 12 บาทเศษก็ตาม เพราะจำเป็นต้องนำเงินไปใช้จ่ายในครอบครัว และชำระหนี้ที่กู้ยืมมาลงทุนทำนา

ส่วนที่เหลือตั้งใจว่าจะนำไปเข้าร่วมโครงการจำนำของรัฐบาล เพราะเชื่อว่าจะได้ราคาสูงกว่านำไปขาย แต่ตอนนี้ยังติดปัญหาที่ในเขตพื้นที่ อ.ชำนิ ไม่มีจุดรับจำนำทั้งใน และนอกพื้นที่ จึงยังต้องชะลอการเก็บเกี่ยวเพื่อรอเข้าร่วมโครงการ

“จึงอยากร้องขอให้หน่วยงานภาครัฐเร่งพิจารณาเปิดจุดรับจำนำนอกพื้นที่ในเขตพื้นที่อำเภอชำนิ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก และลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่เกษตรกร” นายธีรพงษ์กล่าว

เช่นเดียวกับ นายสวิศ ขำเอนก เกษตรกรอำเภอนางรอง เห็นตรงกันว่า อยากให้มีการพิจารณาเปิดจุดจำนำนอกพื้นที่ให้ครอบคลุมทุกอำเภอ เพราะจะเป็นการเพิ่มทางเลือก และลดปัญหาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร ทั้งเพื่อให้เกิดการแข่งขันลดปัญหาการเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการโรงสีในอีกทางหนึ่งด้วย

ด้าน นายสุทธิศักดิ์ พรหมบุตร การค้าภายในจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีเกษตรกรนำข้าวมาเข้าร่วมโครงการรับจำนำทั้งใน และนอกพื้นที่แล้วกว่า 20,000 ตัน และคาดว่าจะมีเกษตรกรทยอยนำข้าวมาเข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เปิดรับจำนำมาจนถึงขณะนี้ยังไม่พบความผิดปกติในการสวมสิทธิ หรือทุจริตในโครงการฯ แต่อย่างใด มีเพียงเกษตรกรในบางพื้นที่ร้องขอเปิดจุดรับจำนำนอกพื้นที่เท่านั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า วันเดียวกันนี้ (19 พ.ย.) ทางด้านคณะอนุกรรมการติดตามกำกับดูแลการรับจำนำข้าวระดับอำเภอ ที่ อ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์ ได้เร่งประชุมพิจารณาเปิดจุดรับจำนำข้าวนอกพื้นที่ เฉพาะพื้นที่ อ.หนองกี่ หลังจากได้มีเกษตรกรรวมตัวชุมนุมประท้วงกดดันพร้อมขู่ปิดถนน เมื่อวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งได้มีเกษตรกรเรียกร้องให้มีการเปิดจุดรับจำนำนอกพื้นที่เพิ่ม 6 จุด ใน 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เฉลิมพระเกียรติ 2 จุด อ.ชำนิ อ.กระสัง อ.หนองกี่ และ อ.นาโพธิ์อำเภอละ 1 จุด เพื่อลดภาระค่าขนส่งช่วยเหลือเกษตรกร แต่ล่าสุดยังไม่ได้ข้อยุติ

ส่วนอีก 4 อำเภอ ที่มีการร้องขอเปิดจุดจำนำนอกพื้นที่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับคณะอนุกรรมการระดับอำเภอแต่ละพื้นที่จะเป็นผู้พิจารณาเห็นชอบเช่นเดียวกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น