ศูนย์ข่าวศรีราชา - นายกเทศมนตรีปากน้ำประแส แถลงข่าวจัดงานประเพณีทอดผ้าป่ากลางน้ำแห่งเดียว และแห่งแรกในประเทศไทย ที่สืบสานติดต่อกันนานกว่า 100 ปี
วันนี้ (16 พ.ย.) ที่บริเวณอนุสรณ์เรือรบหลวงประแส ตำบลปากน้ำประแส อำเภอแกลง จังหวัดระยอง นายวราวุธ ปิ่นเงิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ได้เดินทางมาเป็นประธานในการแถลงข่าวการจัดงานประเพณีทอดผ้าป่ากลางน้ำ-การแข่งขันเรือพาย ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน-29 พฤศจิกายนนี้ ที่บริเวณอนุสรณ์เรือหลวงประแส
โดยมีนายสุรพล เทียนสุวรรณ นายอำเภอแกลง นายไชยรัตน์ เอื้อตระกูล นายกเทศมนตรีตำบลปากน้ำประแส นายมานพ เอื้อตระกูล ที่ปรึกษานายกเทศมนตรีประธานจัดงาน นางประชิด ชินราช ประธานคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสตรีจังหวัดระยอง นายบรรพต เอื้อตระกูล และนางกนกวรรณ เบญจาทิกุล สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง ร่วมในพิธี
ซึ่งนายวราวุธ ปิ่นเงิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า ประเพณีดังกล่าวสืบสานกันมายาวนานกว่า 100 ปี โดยเฉพาะคนปากน้ำประแส ซึ่งถือเป็นคนที่มีวัฒนธรรมเก่าแก่ และเมื่อ 200 กว่าปีก่อน พระเจ้าตากสินมหาราชเคยเดินทัพมา ณ ที่แห่งนี้ เพื่อจะข้ามแม่น้ำประแสไปตีเมืองจันทบุรีโดยมีคนประแสร่วมทัพไปกับพระองค์ จนสามารถกอบกู้เอกราชจากพม่า
ซึ่งบรรพบุรุษของคนปากน้ำประแส ถือว่ามีบุญคุณกับแผ่นดินเมืองระยองมายาวนาน และประเพณีทอดผ้าป่ากลางน้ำถือเป็นประเพณีซึ่งจัดขึ้นเป็นแห่งแรก และแห่งเดียวของประเทศไทย
ขณะที่นายไชยรัตน์ เอื้อตระกูล นายกเทศมนตรีตำบลปากน้ำประแส กล่าวว่า เทศบาลตำบลปากน้ำประแส ได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง วัฒนธรรมจังหวัด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานระยอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอำเภอแกลง หน่วยงานราชการ และพี่น้องชุมชนลุ่มน้ำประแส จัดงานประเพณีทอดผ้าป่ากลางน้ำ แข่งขันเรือพายชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2555 ขึ้น เพื่อสืบทอดประเพณีที่มีมายาวนานกว่า 100 ปี
การจัดงานในปีนี้ ตรงกับวันลอยกระทง วันเพ็ญเดือนสิบสอง และการทอดผ้าป่ากลางน้ำ ชาวตำบลปากน้ำประแสถือว่าเป็นพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ และเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ เนื่องจากในอดีตชาวบ้านตำบลปากน้ำประแสตั้งบ้านเรือนหลังเล็กๆ บริเวณริมแม่น้ำประแส และสัญจรไปมาโดยทางเรือ ชาวบ้านต้องใช้เรือพายเป็นพาหนะในการประกอบอาชีพหาปลา ทอดแห และใช้เบ็ดตกปลา
และเมื่อมีงานบุญ หรืองานทำบุญขึ้นบ้านใหม่จะต้องมีการทอดผ้าป่า จึงถือว่าครบถ้วนตามประเพณี และเมื่อมีงานบุญจะนิมนต์พระขึ้นไปชักพุ่มผ้าป่าบนบ้านซึ่งคับแคบไม่สะดวก จึงจำเป็นต้องใช้ไม้ไผ่ปักที่หัวเรือ-ท้ายเรือ และนำไม้รวกลำเล็กๆมาวางทำเป็นราวเพื่อนิมนต์พระขึ้นไปสวดบนบ้าน โดยที่ขากลับจะนิมนต์พระชักผ้าป่าในเรือ ซึ่งชาวบ้านตำบลปากน้ำประแส ได้ร่วมอนุรักษ์สืบสานประเพณีติดต่อเนื่องกันมาเป็นเวลากว่า 100 ปี