หนองคาย- เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขงและเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน นำเรือ 50 ลำล่องแม่น้ำโขงฝั่งหนองคาย ตรงข้ามกับโรงแรมที่พักผู้นำประเทศเข้าร่วมประชุมอาเซม รณรงค์คัดค้านการก่อสร้างเขื่อนไชยะบุรี สปป.ลาว ขณะที่ทหารลาวนำเรือติดอาวุธออกสกัด
เมื่อเวลา 10.30 น. วันนี้ (5 พ.ย.) ที่วัดชุมพล ต.พานพร้าว อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ในลำแม่น้ำโขงด้านหน้าวัดชุมพล ต.พานพร้าว อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับบ้านหาดดอนจัน นครหลวงเวียงจันทน์ เมืองหลวง สปป.ลาว และเป็นสถานที่พักของผู้นำประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป (อาเซม) ที่ สปป.ลาวเป็นเจ้าภาพจัดประชุม ได้มีเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขงและเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.)
รวมทั้งประชาชนใน อ.ศรีเชียงใหม่ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ประมาณ 200 คน ได้ร่วมกันคัดค้านการสร้างเขื่อนไชยะบุรีของประเทศลาว ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้าง กลุ่มคัดค้านได้นำเรือ 50 ลำล่องในลำแม่น้ำโขง ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร และวนอยู่ 3 รอบ โดยเรือแต่ละลำได้ติดป้ายรณรงค์และคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนไชยะบุรีใน สปป.ลาว
ซึ่งในระหว่างนั้นได้มีเรือของทหาร สปป.ลาวติดอาวุธจำนวน 2 ลำ ออกมาประกบเพื่อไม่ให้ขบวนเรือรุกล้ำเข้าไปใกล้ฝั่ง สปป.ลาว เนื่องจากเป็นสถานที่พักของผู้นำจากประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมอาเซมในครั้งนี้
นายอิทธิพล คำสุข เลขานุการเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มแม่น้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.) กล่าวว่า ในวาระการประชุมเอเชีย-ยุโรป (อาเซม) ที่ สปป.ลาวครั้งนี้ ทั้ง 2 เครือข่ายและประชาชนในพื้นที่ จ.หนองคายกว่า 200 คน ขอเรียกร้องให้ผู้นำประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมได้รับรู้ว่าแม่น้ำโขงกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติ เนื่องจากโครงการก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนล่างที่กำลังคืบหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเขื่อนไชยะบุรีตั้งอยู่ใน สปป.ลาว
ซึ่งเป็นการลงทุนโดยบริษัทเอกชนไทย สัญญาซื้อขายไฟฟ้าลงนามโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และมีการคัดค้านจากรัฐบาลกัมพูชาและเวียดนาม ตลอดจนประชาชนในภูมิภาคนี้อยู่ในขณะนี้
ในวาระการประชุมอาเซมครั้งนี้ผู้นำจะมีการพูดคุยกันเรื่องพลังงานด้วย จึงอยากบอกว่าแม่น้ำโขงเป็นเส้นเลือด เป็นชีวิต เป็นจิตวิญญาณ และวัฒนธรรมของประชาชนอย่างน้อย 60 ล้านคน แม่น้ำโขงมีค่ามากเกินกว่าจะเป็นเพียงแหล่งผลิตพลังงาน หรือเพื่อสร้างความร่ำรวยให้แก่บุคคลกลุ่มเล็กๆ เพียงกลุ่มเดียว ประชาชนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงแห่งนี้ต้องการวางแผนพลังงานที่รอบด้าน ยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีส่วนร่วมตลอดสายน้ำ
จึงขอเรียกร้องให้หยุดโครงการก่อสร้างเขื่อนไชยะบุรี ให้ทบทวน ศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาแม่น้ำสำคัญสายนี้ด้วย