xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.วุฒิฯ แนะเทศบาลช้างเผือกเร่งออกเทศบัญญัติแก้ปัญหาตึกสูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - กมธ.สิ่งแวดล้อมฯ วุฒิสภาขึ้นเชียงใหม่ เชิญหน่วยงาน-ประชาชนชี้แจงหลังรับเรื่องร้องเรียนกรณีตึกสูงในพื้นที่เทศบาลตำบลช้างเผือก พบเอกชนยื่นขอก่อสร้างตึกสูง 2 โครงการ แต่ภายหลังพบเจ้าของคนเดียวกัน ฝั่งประชาชนชี้เข้าข่ายโครงการเดียวแต่ยื่นเป็นสอง หนีทำอีไอเอ ส่วนหน่วยงานรับต้องอนุญาตเพราะกลัวโดนฟ้อง-ไม่มี กม.ให้ใช้จนเรื่องบานปลายถึงศาลปกครอง ด้านประธาน กมธ.แนะเทศบาลมีอำนาจเต็มต้องออกเทศบัญญัติมาใช้ควบคุม

วันนี้ (3 พ.ย.) คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา นำโดยนายบุญส่ง โควาวิสารัช ประธานคณะกรรมการ เดินทางมายังเทศบาลตำบลช้างเผือก จ.เชียงใหม่ เพื่อร่วมประชุมหารือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในกรณีร้องเรียนเรื่องการก่อสร้างอาคารสูงในพื้นที่ของเทศบาลตำบลช้างเผือก โดยมีนายฤทธิพงศ์ เตชะพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และตัวแทนจากเทศบาลตำบลช้างเผือก สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ตัวแทนกลุ่มผู้ร้องเรียน และตัวแทนเจ้าของอาคารเข้าร่วม

การประชุมในครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีที่ประชาชนในย่านช้างเผือกได้ยื่นฟ้องศาลปกครอง ให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง และขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการก่อสร้างเป็นการชั่วคราว กรณีที่บริษัทเอกชนได้ทำการก่อสร้างอาคารสูงขึ้นในพื้นที่ เนื่องจากเกรงว่าการก่อสร้างอาคารดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่

กรณีดังกล่าว สืบเนื่องจากเทศบาลตำบลช้างเผือกได้อนุญาตให้บริษัท ภาวิตวโรดม จำกัด ก่อสร้างอาคารสูง 7 ชั้น จำนวน 53 ห้อง พื้นที่ใช้สอย 3,864 ตารางเมตร เพื่อใช้เป็นอาคารชุดพักอาศัย และอนุญาตให้ นางรมน ตรงจิตตเกษม ก่อสร้างอาคารสูง 7 ชั้น จำนวน 56 ห้อง พื้นที่ใช้สอย 3,973 ตารางเมตร เพื่อใช้เป็นอาคารชุดพักอาศัยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม กลุ่มประชาชนในพื้นที่ได้ยื่นฟ้องศาลปกครอง เนื่องจากเห็นว่านางรมน ซึ่งเป็นผู้ขออนุญาตก่อสร้างอาคารที่สองเคยมีชื่อเป็นคณะกรรมการในบริษัทภาวิตวโรดม จำกัด อีกทั้งอาคารทั้งสองยังจะก่อสร้างบนที่ดินแปลงติดกัน ซึ่งอาจเข้าข่ายว่าทั้งสองโครงการเป็นโครงการเดียวกัน ซึ่งจะเข้าหลักเกณฑ์ที่ต้องทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ปรากฏว่า ศาลปกครองมีคำสั่งยกคำร้องในกรณีที่ขอให้ระงับการก่อสร้างเป็นการชั่วคราว เนื่องจากเห็นว่าเอกชนมีสิทธิดำเนินการก่อสร้างได้ตามกฎหมาย

ทั้งนี้ ในการประชุมได้เปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงถึงการดำเนินงานเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว โดยเทศบาลตำบลช้างเผือกชี้แจงว่า หลังจากผู้ประกอบการได้ยื่นขออนุญาตก่อสร้าง ได้มีการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนถึงผลกระทบ และข้อกังวลที่ต้องการให้ทางราชการป้องกันหรือแก้ไข โดยรอบรัศมี 100 เมตรแล้ว รวมทั้งเมื่อพบว่า นางรมนซึ่งเป็นผู้ยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคารหลังที่ 2 มีชื่อเป็นกรรมการในบริษัท ภาวิตวโรดม จำกัด ซึ่งอาจเข้าข่ายว่าทั้งสองโครงการเป็นโครงการเดียวกัน และต้องทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ก็ได้หารือกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่เพื่อร่วมกันพิจารณาแล้ว และท้ายที่สุด ได้อนุญาตให้มีการก่อสร้างเนื่องจากเห็นว่าไม่ขัดกับกฎหมายแต่อย่างใด

ด้านสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ระบุว่า ทั้งสองโครงการมีขนาดพื้นที่ใช้สอยไม่เกิน 4,000 ตารางเมตร และมีห้องไม่เกิน 80 ห้อง ซึ่งเป็นจำนวนที่จะต้องทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม อีกทั้งการพิจารณาของเจ้าหน้าที่เห็นว่า ทั้ง 2 โครงการมีการใช้สาธารณูปโภคแยกจากกัน อีกทั้งนางรมนยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างในนามบุคคล ส่วนบริษัท ภาวิตวโรดม จำกัด ยื่นขอใบอนุญาตในนามบริษัท จึงไม่ถือว่าเป็นโครงการเดียวกัน และไม่ต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ขณะที่สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองชี้แจงว่า อำนาจในการอนุญาตให้ก่อสร้างนั้นเป็นของเทศบาล แต่ในกระบวนการพิจารณาอาจะมีข้อขัดข้องเนื่องจากในปัจจุบัน จังหวัดเชียงใหม่ยังไม่มีการประกาศผังเมืองรวมฉบับใหม่ อีกทั้งเทศบาลเอง ก็ยังไม่ได้ออกเทศบัญญัติควบคุมอาคารอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ร้องเรียนได้โต้แย้งว่า กรณีการก่อสร้างอาคารสูงในพื้นที่ของเทศบาลตำบลช้างเผือกนั้นเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมา เทศบาลไม่มีท่าทีที่ชัดเจนในการควบคุมปัญหาดังกล่าว และเมื่อเกิดกรณีดังกล่าวขึ้นทางเทศบาลก็อนุญาตให้มีการก่อสร้างโดยอ้างว่าเอกชนขออนุญาตอย่างถูกต้อง แต่ไม่ได้พิจารณาถึงกระบวนการดำเนินการของเอกชนที่เข้าข่ายหลบเลี่ยงการทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และผลกระทบในด้านอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ อย่างเช่นปัญหาการจราจร มลพิษ และทัศนียภาพ เป็นต้น

พร้อมกันนี้ กลุ่มผู้เรียกร้องยังได้ร้องขอความชัดเจนต่อแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับกรณีลักษณะดังกล่าวในอนาคต โดยเฉพาะการออกเทศบัญญัติของเทศบาลเพื่อควบคุมกรณีดังกล่าวอีกด้วย

รศ.ดร.นุชนาฏ จงเลขา แกนนำกลุ่มผู้ร้องเรียนระบุว่า ปัญหาการก่อสร้างอาคารสูงในพื้นที่ของเทศบาลตำบลช้างเผือกเป็นปัญหาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งในปัจจุบันทางกลุ่มภาคประชาชนได้ยื่นคัดค้านการก่อสร้างและฟ้องศาลปกครองไปแล้ว 8 โครงการ 11 อาคาร ขณะที่โครงการที่เป็นปัญหาในขณะนี้นั้น ทางกลุ่มได้ร้องเรียนทั้งต่อศาลปกครอง และกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากเห็นว่าผู้ประกอบการซึ่งเป็นรายเดียวกันพยายามหลีกเลี่ยงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้วยการยื่นขออนุญาตเป็น 2 โครงการ เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าหลักเกณฑ์ อีกทั้งบริเวณที่จะก่อสร้างซึ่งอยู่ในจุดที่เป็นมุมอับ และถนนคับแคบนั้นจะส่งผลกระทบต่อการจราจรในบริเวณดังกล่าวในอนาคต

ขณะที่นายบุญส่ง โควาวิสารัช ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา กล่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมว่า คณะกรรมาธิการได้ลงพื้นที่เพื่อรับฟังการชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายหลังจากที่ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว ซึ่งจากการรับฟังปัญหาในวันนี้พบว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถดำเนินการในบางประเด็นได้เนื่องจากติดขัดในข้อกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งที่ได้ฝากไว้ให้หน่วยทางเทศบาลตำบลช้างเผือก ซึ่งถือเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงได้พิจารณาคือ เทศบาลมีอำนาจในการออกเทศบัญญัติเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว และสามารถดำเนินการได้ เนื่องจากกระบวนการได้ผ่านการพิจารณาของทางจังหวัดแล้ว แต่ปรากฏว่า นายกเทศมนตรียังไม่ได้ลงนามในเทศบัญญัติ เนื่องจากมีข้อกฎหมายบางประการที่ต้องแก้ไข ซึ่งเมื่อผนวกกับการที่จังหวัดเชียงใหม่ยังไม่ได้ประกาศใช้ผังเมืองฉบับใหม่ ทำให้เกิดภาวะสุญญากาศที่ผู้ประกอบการจะเร่งดำเนินการขอใบอนุญาตเพื่อทำการก่อสร้างอาคาร และเมื่อเรื่องไปถึงสำนักงานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม หากไม่พบว่ามีความผิด ทางหน่วยงานก็จำเป็นจะต้องอนุญาตเนื่องจากเกรงว่าจะถูกผู้ประกอบการฟ้องร้อง

ดังนั้น จึงเห็นว่าในขณะนี้ เทศบาลเป็นผู้ที่มีอำนาจตามกฎหมายทั้งในการอนุญาตและควบคุมดูแลการก่อสร้างอาคาร จึงควรที่จะเร่งออกเทศบัญญัติเพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานที่ถูกต้องในการดำเนินการต่อไปในอนาคต ขณะเดียวกัน คณะกรรมาธิการจะได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว นำเสนอไปยังรัฐบาลเพื่อให้กำหนดมาตรการในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาในลักษณะดังกล่าว รวมทั้งเพื่อสร้างบรรทัดฐานสำหรับผู้ปฏิบัติงานต่อไปในอนาคต
ภาพตัวอย่างของอาคารทั้งสองโครงการที่เอกชนได้รับอนุญาตทำการก่อสร้าง แต่ถูกกลุ่มประชาชนในพื้นที่ยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ระงับการก่อสร้างและเพิกถอนใบอนุญาต
สภาพพื้นที่บริเวณที่จะทำการก่อสร้างอาคารทั้งสองโครงการ จะสังเกตเห็นคอนโดมีเนียมของเอกชนรายอื่นที่สร้างเสร็จแล้วอยู่ด้านหลัง
กำลังโหลดความคิดเห็น