ศูนย์ข่าวศรีราชา - ประเพณีวิ่งควายจังหวัดชลบุรี ครั้งที่ 141 กร่อยสนิท หลัง WORKPOINT ผู้ดูแลการจัดงาน ไม่เน้นรักษาประเพณีดั้งเดิม แต่กลับเน้นการจัดคอนเสิร์ต ทำชาวบ้านระอาถามหาจุดยืนของการจัดงาน ขณะที่เกษตรกรในพื้นที่ส่งควายเข้าร่วมประกวดน้อยสุด
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศงานประเพณีวิ่งควาย จังหวัดชลบุรี ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 141 ในปี 2555 ตั้งแต่ช่วงเช้าวันนี้ (29 ต.ค.) ว่าเป็นไปอย่างคึกคัก โดยมีนายสนธยา คุณปลื้ม ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมคนใหม่ และนางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วย นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายวิทยา คุณปลื้ม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี นายเดโช คงชยาสุขวัฒน์ นายกเทศบาลเมืองชลบุรี ร่วมเดินขบวน และขึ้นเกวียนกัณฑ์เทศน์ทั้ง 12 กันฑ์ แห่รอบตลาดเมืองชลบุรี เป็นระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร
โดยมีจุดหมายปลายทางที่การเดินทางไปกราบไหว้ และสักการะพระเจ้าตากสินมหาราช ที่วัดใหญ่อินทาราม ซึ่งถือเป็นสถานที่ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของประเพณีวิ่งควายจังหวัดชลบุรีในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ชาวชลบุรีมีความเชื่อว่า หากวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ปีใดไม่มีการจัดงานประเพณีวิ่งควาย ปีนั้นจะเกิดอาเพศกับเกษตรกร และจะเกิดโรคระบาดกับวัว-ควาย โดยไม่รู้สาเหตุ เพราะเชื่อว่าวิญญาณบรรพชนยังห่วงประเพณีอันดีงาม จึงดลบันดาลให้เกิดเภทภัยพิบัติต่างๆ จนเป็นที่มาของการจัดงานที่สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน
การจัดงานประเพณีวิ่งควาย จังหวัดชลบุรี ในปีนี้ยังคงจัดที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองชลบุรี และยังได้รับพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศ จากองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
สำหรับการแข่งขันวิ่งควาย แบ่งออกเป็นรุ่นจิ๋ว รุ่นเล็ก รุ่นกลาง รุ่นใหญ่ และรุ่นซูเปอร์ นอกจากนี้ ภายในงานยังจัดให้มีการประกวดตกแต่งควายสวยงาม และประเภทตลกขบขัน การประกวดสุขภาพควาย การประกวดพ่อและแม่พันธุ์ ควายเผือก นิทรรศการควาย กีฬาพื้นบ้านไทย เช่น ยิงหนังสติ๊ก ตะกร้อลอดห่วง
อย่างไรก็ดี บรรยากาศของงานในปีนี้แม้จะคึกคัก แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจจากเกษตรกรส่งควายเข้าประกวดเหมือนปีอื่นๆ ที่จะมีมากเฉลี่ยกว่า 1,000 ตัว แต่ในปีนี้เกษตรกรกลับส่งควายเข้าประกวด และร่วมแข่งขันน้อยมาก ขณะที่นักท่องเที่ยว รวมทั้งคนในพื้นที่ก็เข้าชมงานประเพณีวิ่งควายน้อยกว่าที่ควร
ชาวชลบุรีรายหนึ่ง กล่าวว่า การจัดงานในปีนี้ถือว่าตกต่ำถึงขีดสุด เนื่องจากรูปแบบของการจัดงานเน้นการแสดงของค่าย WORKPOINT ซึ่งรับผิดชอบการแสดง และดูแลความเรียบร้อยของงาน ทั้งที่งานดังกล่าวมีงบประมาณจากกระทรวงวัฒนธรรมสูงถึง 10 ล้านบาท แต่รูปแบบของงานกลับไม่เน้นที่การคงไว้ซึ่งประเพณีดั้งเดิม ที่ชาวชลบุรีอนุรักษ์มานานกว่า 100 ปี แต่กลับเน้นการแสดงเวทีคอนเสิร์ตจนทำให้ชาวชลบุรีถามหาจุดยืนที่แท้จริงของการจัดงาน