สกลนคร - โรงพยาบาลสกลนครจัดโครงการพัฒนาระบบงาน การให้ความช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกทารุณกรรม เผยแนวโน้มความรุนแรงของปัญหาเพิ่มมากขึ้น เหยื่อถูกทารุณกรรมส่วนใหญ่เป็นเด็ก และถูกกระทำทางเพศจากคนใกล้ตัวมากที่สุด
วันนี้ (17 ต.ค.) ที่ห้องประชุมธนากโร ชั้น 3 อาคารกายภาพบำบัด โรงพยาบาลสกลนคร นพ.เรืองศักดิ์ ใครบุตร รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลสกลนคร เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาระบบงานการให้ความช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกทารุณกรรม
พญ.จุฑารัตน์ นันตะสุข ประธานศูนย์ให้ความช่วยเหลือเด็ก สตรี และครอบครัวที่ประสบปัญหา หรือศูนย์ OSCC โรงพยาบาลสกลนคร กล่าวว่า สืบเนื่องจากปัญหาความรุนแรงในเด็ก สตรี และครอบครัว ได้ทวีจำนวนและความรุนแรงมากยิ่งขึ้น กระทรวงสาธารณสุขได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหานี้ จึงได้สนับสนุนให้มีการจัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือเด็ก สตรี ที่ถูกทารุณกรรมขึ้น ในโรงพยาบาลประจำจังหวัดทุกจังหวัดและขยายเพิ่มในโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง
สำหรับโรงพยาบาลสกลนครได้จัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือเด็ก สตรี และครอบครัวที่ประสบปัญหา (ศูนย์ OSCC) ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา โดยมีทีมสหสาขาวิชาชีพให้ความช่วยเหลือผู้ถูกทารุณกรรมทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม โดยมีลักษณะการให้บริการเป็นแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว มีแบบซักประวัติการถูกทารุณกรรมที่ป้องกันการทารุณกรรมซ้ำ
ส่วนสถิติการให้บริการ OSCC นับตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบัน พบว่ามีจำนวนความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ผู้รับบริการส่วนมากเป็นเด็ก ร้อยละ 73.81 โดยมีลักษณะการถูกทารุณกรรม ส่วนมากเป็นการทารุณกรรมทางเพศ ร้อยละ 77.78 ความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ ส่วนมากร้อยละ 88.79 เป็นคนใกล้ชิด และสถานที่เกิดเหตุส่วนมากเป็นสถานที่ที่ผู้ถูกทารุณกรรมคุ้นเคย เช่น บ้าน โรงเรียน และสถานที่ทำงาน ร้อยละ 73.03
การจัดการประชุมวิชาการ โครงการพัฒนาระบบงานการให้ความช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกทารุณกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับสถานการณ์การทารุณกรรมเด็ก สตรี ที่ถูกทารุณกรรม รวมทั้งสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย โดยมีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วยเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสกลนคร สถานบริการเครือข่ายสุขภาพโรงพยาบาลสกลนคร และทีมสหสาขาวิชาชีพ โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ จำนวน 120 คน