xs
xsm
sm
md
lg

จันท์ปลอดภัยไม่ได้รับผลกระทบจากพายุ “แกมี”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาพอากาศ เมืองจันท์ มีเมฆและฝนตกโปรยปรายเล็กน้อย
จันทบุรี - ผู้ว่าฯ จันทบุรี สรุปสถานการณ์พายุ “แกมี” ไม่กระทบพื้นที่จังหวัดจันทบุรี พบมีเพียงฝนตกโปรยปรายเท่านั้น สั่งหยุดการพร่องน้ำที่เขื่อน หวั่นภัยแล้งกระทบเกษตรกร

วันนี้ (9 ต.ค.) ที่ห้องประชุม 4 ศาลากลางจังหวัดจันทบุรี นายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ได้เรียกประชุมหัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสรุปสถานการณ์ผลกระทบจากพายุโซนร้อน “แกมี” ที่อ่อนกำลังลงเป็นดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศต่ำ

สำหรับพื้นที่จังหวัดจันทบุรี สถานการณ์ทั่วไปมีเมฆมาก ฝนตกโปรยปราย ยังไม่มีพื้นที่ใดได้รับผลกระทบน้ำท่วมขัง ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดจันทบุรี พบว่า การที่จังหวัดจันทบุรีเตรียมพร้อมรับผลกระทบจากพายุโซนร้อนแกมี และมีการพร่องน้ำจากเขื่อนพลวง และเขื่อนคิรีธาร แต่สถานการณ์กลับตาลปัตรไม่มีฝนตกมากอย่างที่คาดการณ์ จังหวัดหวั่นหากไม่กักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง คาดว่าเกษตรกรจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งแน่นอนจึงได้สั่งการให้ทั้ง 2 เขื่อนหยุดพร่องน้ำ และกักเก็บน้ำไว้ใช้ช่วงฤดูแล้งแล้ว

นอกจากนั้น นายสุรชัย ได้สั่งการขอให้ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างที่ 9 กรมชลประทาน ที่รับผิดชอบในการดำเนินโครงการคลองบายพาสป้องกันแก้ไขปัญหาอุทกภัยในเขตอำเภอเมืองจันทบุรี เร่งผู้รับเหมาให้ดำเนินโครงการ เพราะที่ผ่านมา ความก้าวหน้าของการก่อสร้างทั้ง 2 ระยะล่าช้าไปมาก โดยโครงการคลองบายพาสกำหนดแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 แต่เนื้องานดำเนินการไปได้เพียง 53 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น จึงเป็นปัญหาที่ทางจังหวัดเป็นห่วงที่อาจจะเกิดน้ำท่วมในปีหน้าได้ หากแล้วเสร็จไม่ทันก่อนฤดูฝนปีหน้าหวั่นจะเกิดผลกระทบน้ำท่วมในเขตเศรษฐกิจเมืองจันทบุรี

พร้อมกันนี้ จังหวัดจะทูลเกล้าขอพระราชทานชื่อโครงการคลองบายพาส จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่วนลุ่มน้ำต่างๆ เช่น คลองวังโตนด คลองเวฬุ ได้สั่งการให้เตรียมพร้อมกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรช่วงฤดูแล้ง ส่วนการแก้ไขระยะยาวด้านการป้องกัน และแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง จังหวัดจะดูภาพรวมโดยเฉพาะสถิติปริมาณฝนในรอบปีจันทบุรีถือว่าเป็นจังหวัดลำดับ 3 ของประเทศที่มีปริมาณฝนตกมากที่สุด แต่ปริมาณน้ำฝนที่ตกประมาณ 600 กว่าล้านลูกบาศก์เมตรจะไหลลงทะเลมากกว่า 500 ล้านลูกบาศก์เมตร กักเก็บไว้ในเขื่อน และอ่างเก็บน้ำได้เพียง 300 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ปริมาณน้ำที่เกษตรกรต้องการใช้ในช่วงฤดูแล้งประมาณ 800 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายหากจันทบุรีมีแหล่งกักเก็บน้ำมากกว่านี้ ปัญหาภัยแล้ง และน้ำท่วมจังหวัดจันทบุรีจะดีขึ้นอย่างแน่นอน
ผู้ว่าฯจันท์ ประชุมหัวหน้าส่วนการงาน ประเมินสถานการณ์ พายุ แกมี พบไม่รุนแรง เตรียมยกเลิกการพร่องน้ำ
กำลังโหลดความคิดเห็น