xs
xsm
sm
md
lg

นักเขียนอีสานจัดมหกรรมฯ เสวนา “บทบาทวรรณกรรมไทยในเวทีอาเซียน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สโมสรนักเขียนภาคอีสาน ร่วม มหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ จัดงานมหกรรมชุมนุมนักเขียนภาคอีสาน เปิดเวทีเสวนา “บทบาทวรรณกรรมไทยในเวทีอาเซียน  และ บทบาทวรรณกรรมในเครือข่ายสังคมออนไลน์”   9-10 พ.ย. นี้
ศรีสะเกษ - “สโมสรนักเขียนภาคอีสาน” จับมือ ม.ราชภัฏศรีสะเกษ จัดงานมหกรรมชุมนุมนักเขียนภาคอีสาน เปิดเวทีเสวนา “บทบาทวรรณกรรมไทยในเวทีอาเซียน และบทบาทวรรณกรรมในเครือข่ายสังคมออนไลน์” เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน 9-10 พ.ย.นี้

วันนี้ (11 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ผศ.ดร.ประดิษฐ ศิลาบุตร รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ เปิดแถลงข่าวการจัดงานมหกรรมชุมนุมนักเขียนภาคอีสาน ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ร่วมกับสโมสรนักเขียนภาคอีสานจัดขึ้น เพื่อเป็นการกระตุ้นวงการนักเขียนภาคอีสานให้แก่คนรุ่นใหม่ โดยได้เชิญนักเขียนชื่อดังมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจที่จะมาร่วมงานดังกล่าว ในระหว่างวันที่ 9-10 พ.ย. 2555 นี้ ที่อาคารหอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ซึ่งภายในงานจะมีการเสวนาในหัวข้อเรื่อง “บทบาทวรรณกรรมไทยในเวทีอาเซียน” และ “บทบาทวรรณกรรมในเครือข่ายสังคมออนไลน์”

ผศ.ดร.ประดิษฐ ศิลาบุตร รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ร่วมกับสโมสรนักเขียนภาคอีสาน ได้ร่วมกันจัดงานนี้ขึ้นเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนบทบาทของนักเขียนในเวทีอาเซียน โดยสโมสรนักเขียนภาคอีสาน ซึ่งเป็นการรวมตัวกันระหว่างนักเขียนทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ในภาคอีสาน นำโดย อ.วีระ สุดสังข์ หรือ “ฟอน ฝ้าฟาง”

ทั้งนี้ เท่าที่ได้ติดตามผลงานนักเขียนภาคอีสานที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นการถ่ายทอดเนื้อหาหรือนำเสนอในเรื่องวัฒนธรรมพื้นบ้าน ซึ่งหมายถึงหากเราก้าวสู่กสนเป็นอาเซียนเมื่อใดจะทำให้ความเป็นพื้นบ้านหรือท้องถิ่นก้าวสู่ความเป็นสากล ซึ่งคำว่า สากล ไม่ได้หมายความว่าเราต้องไปกินขนมปังทาแยมเหมือนฝรั่ง แต่คือการนำเอาวัฒนธรรมพื้นบ้านยกขึ้นมาให้เป็นที่รับรู้ในระดับสากลอย่างแท้จริง ดังนั้น สโมสรนักเขียนภาคอีสานจึงเป็นกลุ่มหนึ่งที่มีบทบาทในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก และ จ.ศรีสะเกษ เป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน

ผศ.ดร.ประดิษฐกล่าวต่อว่า ในการจัดงานครั้งนี้ถือเป็นก้าวหนึ่งที่น่าจับตามอง เพราะได้จัดในสถาบันการศึกษา ซึ่งจะส่งผลให้เยาวชนจำนวนหนึ่งหันมารักการเขียน-อ่านหนังสือ เพื่อรักษาความเป็นท้องถิ่น และถ่ายทอดออกไปสู่ความเป็นสากล ซึ่งสิ่งนี้ประเทศอาเซียนมี 10 ชาติ อย่างน้อยต้องมี 10 อย่างที่มีความเป็นท้องถิ่นของตัวเอง จึงขอเชิญชวนผู้ที่สนใจมาเข้าร่วมฟังการเสวนาในครั้งนี้ด้วย

ทางด้าน นายวีระ สุดสังข์ หรือ “ฟอน ฝ้าฟาง” ตัวแทนสโมสรนักเขียนภาคอีสาน กล่าวว่า สโมสรนักเขียนภาคอีสานถือเป็นนักเขียนกลุ่มแรกที่มีการจัดตั้งกลุ่ม หรือสโมสรขึ้นมา โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากกลุ่มวรรณกรรมลำน้ำมูลเมื่อ 30 ปีก่อน จากนั้น ได้รับการท้วงติงจากกลุ่มนักเขียนด้วยกันว่า อีสานเรามีลำน้ำมากมาย ซึ่ง นายสมคิด สิงสง จึงได้เสนอให้เปลี่ยนชื่อมาเป็นสโมสรนักเขียนภาคอีสาน เพื่อให้ครอบคลุมพี่น้องนักเขียนอีสานทั่วทั้งภาค

นายวีระกล่าวต่อว่า วัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้คือ จ.ศรีสะเกษมีศิลปิน นักคิด นักเขียนที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับประเทศ และระดับโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ไก่ฟ้า ดาดวง, นกน้อย อุไรพร, ยิ่งยง ยอดบัวงาม, เสถียร ทำมือ, ยีนส์ ศิลาแลง, บิ๊กวัน กันทรลักษ์ และยังมีศิลปินที่โด่งดังในอดีตอีกหลายๆ ท่านที่ไม่ได้เอ่ยถึง แต่ในฐานข้อมูลของจังหวัดกลับไม่มีชื่อศิลปินเหล่านี้ปรากฏเลย ซึ่งหลังจากเสร็จงานมหกรรมชุมนุมนักเขียนภาคอีสานในครั้งนี้แล้ว ตนจึงหวังว่าน้องๆ จะร่วมกันก่อตั้งสโมสรศิลปินศรีสะเกษ เพื่อเชิดชูบุคคลเหล่านี้ให้เป็นที่รับรู้ของคนศรีสะเกษ และคนทั่วไป

“ในการจัดงานครั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งจะได้นำเอาวรรณกรรมต่างๆ มาเผยแพร่ในแวดวงผู้ที่สนใจเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กันระหว่างนักเขียน นักเรียน นิสิต นักศึกษา และผู้ที่สนใจทั่วไป โดยในวันดังกล่าวได้เชิญศิลปินแห่งชาติ และนักเขียนที่ได้รับรางวัลซีไรต์ รวมทั้งนักเขียนที่มีชื่อเสียงทั่วไปมาร่วมกันงานอย่างคับคั่งด้วย” นายวีระกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น