มุกดาหาร - อาชีพการเลี้ยงวัว-ควายเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยอนุรักษ์ควายไทยให้คงอยู่ แต่ปัจจุบันปริมาณวัว ควายไทยลดลงอย่างมากเนื่องจากมีการส่งออกไปขายต่างประเทศ โดยเฉพาะที่ด่านพรมแดนสากลมุกดาหารพบว่าปริมาณการส่งออกวัว ควายเพิ่มขึ้น ปัจจุบันส่งออกเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 200 ตัว/วัน
อาชีพการเลี้ยงโค กระบือเพื่อใช้งานและขายบริโภคภายในประเทศเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยอนุรักษ์โค กระบือไทยให้คงอยู่ ที่สำคัญยังสร้างรายได้เลี้ยงชีพครอบครัวเกษตรกร โดยกรมปศุสัตว์ได้มีการจัดทำโครงการรวมใจภักดิ์อนุรักษ์ควายไทย พร้อมจัดตั้งเป็นธนาคารโค-กระบือตามแนวพระราชดำริฯ สนับสนุนทั้งวัคซีนและเชื้อผสมพันธุ์ฟรีแก่เกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงควาย
แต่ในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมากลับพบว่าปริมาณการเลี้ยงโค กระบือไทยเพื่อใช้งานมีจำนวนลดลง จากข้อมูลจังหวัดมุกดาหาร เมื่อปี พ.ศ.2551 พบว่ามีเกษตรกรผู้เลี้ยงควาย 5,046 ครัวเรือน จำนวนควาย 20,539 ตัว เป็นควายที่สามารถใช้แรงงานได้เพียง 257 ตัว หรือประมาณ ร้อยละ 1.25 ของจำนวนควายทั้งหมด ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่าควายไทยที่เลี้ยงไว้เพื่อใช้งานและการอนุรักษ์หายไปไหน
จากคำบอกเล่าของเกษตรกร พบว่าสาเหตุที่ปริมาณวัว ควายไทยลดลงก็เนื่องมาจากความนิยมในปัจจุบันเปลี่ยนจากการใช้แรงงานควายมาเป็นการใช้เครื่องจักรในการทำนา นอกจากนี้ มูลเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ประชากร “ควายไทย” ลดลงจนใกล้สูญพันธุ์ คือการส่งออก
นางสาวพรพิมล สัตยาภินันท์ นายด่านศุลกากรมุกดาหาร กล่าวว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ที่บริเวณด่านพรมแดนมุกดาหาร พบว่าปริมาณการส่งออกวัว ควายไปลาว เวียดนาม และจีนมีมากขึ้น โดยตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2555 จนถึงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมามีปริมาณวัว ควายที่ส่งออกรวมแล้ว 8,370 ตัว ซึ่งน่าเป็นห่วงอย่างมากต่อการสูญพันธุ์ของวัว ควายไทย
ดังนั้น แม้ภาครัฐจะให้ความสำคัญในเรื่องของการอนุรักษ์ควายไทยอยู่แล้วก็ตาม หากยังมีนายทุนที่มุ่งหวังรายได้จากการส่งออกเพื่อการค้า การส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์ย่อมไม่ได้ผล ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันเพื่ออนุรักษ์ควายไทยไม่ให้หายไปเหมือนอย่างที่เป็นอยู่
ปัจจุบันการส่งออก โค และกระบือที่ด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 มุกดาหาร-แขวงสะหวันนะเขตแต่ละวัน มีการส่งออกไปแขวงสะหวันนะเขตประมาณ 200-400 ตัว โดยจะมีรถบรรทุกโค กระบือ มาจอดถ่ายโค กระบือที่ทางเข้าด่านสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 มุกดาหาร เป็นจำนวนมากโดยไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแล และไม่มีการกักกันเพื่อรอตรวจหาโรคติดต่อที่มากับโค และกระบือ
นางสาวพรพิมลระบุว่า โค กระบือที่จะส่งออกไปยังต่างประเทศไม่แน่ใจว่ามีการตรวจสอบการแพร่ระบาดของโรคหรือไม่ เพราะโค กระบือส่วนใหญ่ได้นำมาจากต่างจังหวัด หลายจังหวัดในประเทศไทย ซึ่งการส่งออกที่จังหวัดมุกดาหารเห็นได้ว่าไม่มีการกักกันแต่อย่างใด เพราะรถบรรทุกที่ขนโค กระบือ จะมาขนถ่ายกันที่ถนนทางเข้าด่านสะพาน แล้วก็วิ่งผ่านด่านไปยังแขวงสะหวันนะเขต หากเป็นเช่นนี้วัว ควายในประเทศไทยคงจะสูญพันธุ์ในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน