ลำปาง - ผู้อำนวยการสำนักศิลปากร 7 นำทีมเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ “รอยพระพุทธบาท” ที่วัดเก่าลำปาง เบื้องต้น พบมีลักษณะ “บริโภคเจดีย์” คาดมีการแกะสลักตั้งแต่สมัยเจ้าแม่จามเทวี คือ สมัยทวารวดี อายุกว่าพันปี พร้อมเตรียมพิสูจน์อายุหินปูนที่ฉาบไว้ ก่อนยืนยันอายุที่แน่ชัดอีกครั้ง เผยหากได้คำตอบชัดเจนต้องให้คนลำปางร่วมพัฒนาต่อ
นายเมธาดล วิจักขณะ ผอ.สำนักศิลปากรที่ 7 น่าน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ได้เข้าสอบถามความเป็นมาของการขุดพบรอยพระพุทธบาท ที่วัดถ้ำขุมทรัพย์ ม.5 ต.ใหม่พัฒนา อ.เกาะคา จ.ลำปาง โดยมีพระรัตนกิจ อภิปุณโณ รักษาการเจ้าอาวาสวัด เป็นผู้ให้ข้อมูล และรายละเอียด
จากนั้น นายเมธาดลได้ตรวจสอบร่องรอยพระพุทธบาท ก่อนบอกว่า สำหรับรอยพระพุทธบาทจะมีสองลักษณะ คือ พุทธเจดีย์ คือ รอยที่พระพุทธเจ้าประทับจริง และบริโภคเจดีย์ คือ คนสร้างขึ้นเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า ซึ่งเบื้องต้น รอยพระพุทธบาทที่พบที่วัดแห่งนี้ เป็นลักษณะบริโภคเจดีย์ เป็นพระบาทคู่ คล้ายกับที่พบในจังหวัดปราจีนบุรี โดยพบว่ามีการแกะสลักรอยพระพุทธบาทลงบนพื้นศิลาแลง มีลักษณะที่ครบสมบูรณ์ คือ นิ้วพระบาท ข้อพระบาท ส้นพระบาท วัดแล้วพระบาทยาว 2.4 เมตร นิ้วพระบาทกว้าง 1.10 เมตร ส้นพระบาท กว้าง 72 ซม. ในพระบาทจะมีการแกะสลักเป็นรูปก้นหอยไว้ที่นิ้วพระบาท
ส่วนที่สามารถบ่งบอกได้ว่าเป็นรอยพระพุทธบาท ก็คือ ส่วนตรงกลางพระบาทที่มีการแกะสลักเป็นรูปพระธรรมจักร ซึ่งดูการแกะสลักแล้วมีความเก่าแก่มาก แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่า เกิดขึ้นในสมัยใด แต่เท่าที่ดูอาจจะอยู่ระหว่างสมัยเจ้าแม่จามเทวี คือ สมัยทวารวดี ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงรอยพระพุทธบาทที่พบนี้ก็จะมีอายุกว่าหนึ่งพันปี เนื่องจากมีถึง 2 สมัยที่ทับซ้อนกันอยู่ โดยจะได้เร่งตรวจสอบมวลสารที่อยู่โดยรอบก่อน
อย่างไรก็ตาม ยังมีบางส่วนที่ต้องพิสูจน์ คือ ปูนที่มีการนำมาฉาบด้านบน พบว่า ไม่ใช่ปูนซีเมนต์ แต่น่าจะเป็นปูนดำ ซึ่งเป็นกรรมวิธีในสมัยล้านนาที่มักจะนำหินปูนมาตำแล้วนำมาปูฉาบ ซึ่งจะได้ให้เจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านจิตรกรรม สถาปัตยกรรม เข้ามาตรวจสอบอายุปูนที่ฉาบอีกครั้งถึงจะระบุอายุที่แน่นอนได้
ส่วนการดูแลรักษาในระหว่างที่รอการตรวจพิสูจน์นี้ ได้ขอให้ทางวัดขอความร่วมมือกับประชาชนที่ทราบข่าว และเข้ามากราบไหว้หยุดการโยนเหรียญ และวัตถุต่างๆ ลงไปในรอยพระบาท เพราะอาจจะให้เกิดความเสียหายได้ ส่วนการจะบูรณะและพัฒนาต่อไปนั้น ในอนาคตหากได้รับคำตอบที่แท้จริงแล้ว ก็คงจะให้คนในพื้นที่คือ ชาวลำปาง ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบูรณะ พัฒนา อนุรักษ์รักษากันต่อไป