เชียงราย - กสทช.ยืนยันเปิดประมูล 3จีแน่กลางเดือนตุลาฯ 55 นี้ วางตัวเลขขั้นต่ำ 4,500 ล้านบาท พร้อมป้องกันการฮั้วเต็มที่
วันนี้ (24 ส.ค.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดงานประชาสัมพันธ์เชิงวิชาการ “โค้งสุดท้ายการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ภารกิจเพื่อชาติ” ที่ห้องประชุมดอยตุง โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์รีสอร์ท อ.เมืองเชียงราย โดยมีนายพินิจ หาญพาณิชย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธาน และมีร้อยโท ดร.เจษฎา ศิวรักษ์ เลขานุการรองประธาน กสทช. และ ดร.พัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการประมูลและการออกแบบตลาด เป็นวิทยากรบรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นระบบ 3จี พร้อมยกตัวอย่างการประมูลจากหลายประเทศทั่วโลกให้ผู้เข้าร่วมรับฟังประมาณ 100 คน
ร้อยโท ดร.เจษฎากล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเริ่มล้าหลังเรื่องการใช้เทคโนโลยีคลื่นความถี่มาก โดยเกือบจะล้าหลังกว่าประเทศเวียดนามแล้ว อย่างไรก็ตาม ความต้องการบริโภคของประชาชนกลับพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ผู้บริโภคจำนวนมากมีอุปกรณ์ที่ใช้รองรับคลื่น 3 จีแล้ว แต่ระบบไม่รองรับอย่างเต็มที่ รวมทั้งพบว่าแต่ละคนมีอุปกรณ์สื่อสารที่มากกว่า 1 เครื่องด้วย เช่นมีโทรศัพท์ 2 เครื่องหรืออุปกรณ์อื่นๆ เช่น แท็ปเล็ต คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก ฯลฯ ซึ่งต่างติดตั้งระบบรองรับ 3จีไว้ใช้งานอยู่แล้ว
ดังนั้น กสทช.เป็นหน่วยงานหลักในการเปิดให้ประมูลคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ของระบบ 3จี ที่คาดว่าด้วยความต้องการดังกล่าวจะทำให้มีการใช้กันอย่างคึกคักไปอีกกว่า 10 ปีแม้จะมีระบบอื่น เช่น 4จี ฯลฯ เกิดขึ้นมาใหม่ก็ตาม เพราะจากประสบการณ์ทั่วโลกไม่เคยปรากฏการกลืนคลื่นความถี่เดิมหลังจากมีคลื่นความถี่ที่เหนือกว่าขึ้นไปเพราะการใช้งานต่างกัน เช่น บางคลื่นใช้เสียงเป็นหลัก ต่อมาใช้ระบบข้อมูลต่างๆ มากขึ้น ก็สามารถใช้อุปกรณ์รองรับคนละระบบได้อยู่แล้ว
ร้อยโท ดร.เจษฎากล่าวอีกว่า ในการประมูลนั้น คณะทำงานรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาตัวเลขที่น่าจะเป็นกับการประมูลว่าประมาณ 4,500 ล้านบาท โดยคำนวณจากช่วงระยะเวลา 15 ปี ถือเป็นตัวเลขความน่าจะเป็น จากการคำนวณมูลค่าทั้งหมดว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 6,500 ล้านบาท
ขั้นตอนดำเนินการคือ หลังจากมีการประชาสัมพันธ์รายละเอียดแล้วจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา จากนั้นเปิดให้เอกชนเสนอแผนเข้าไป และคาดว่าจะมีการจัดให้มีการประมูลราวกลางเดือน ต.ค. 55 นี้ ณ อาคารสำนักงาน กสทช.โดยจะใช้การประมูลครั้งนี้อ้างอิงการประมูลในอนาคตด้วย เพราะถือเป็นครั้งแรกที่มีการประมูลระบบ 3จี ของประเทศไทย จึงต้องใช้เป็นหลักฐานอ้างอิง
เบื้องต้นทราบว่ามีเอกชนอย่างน้อย 3 ราย ที่เตรียมพร้อมจะเข้าร่วมการประมูลแล้ว และมีข่าวว่าหลังประมูลราว 2-4 เดือน เอกชนก็จะสามารถเปิดให้บริการคลื่น 3จี ให้ประชาชนได้
“ตัวอย่างในประเทศคือประเทศฟิลแลนด์ และญี่ปุ่น จะประมูลกันเริ่มตั้งแต่ 0 บาท ส่วนมาเลเซีย ซึ่งอยู่ใกล้เราก็ประมูลกันในราคาหลักร้อยล้านบาท แต่ประเทศไทยกำหนดเอาไว้ที่ 4,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่เป็นไปตามการศึกษาความน่าจะเป็นดังกล่าว” ร้อยโท ดร.เจษฎา
ด้าน ดร.พัชรสุทธิ์กล่าวว่า ปัจจุบันคลื่น 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ระบบ 3จีของไทยมีอยู่จำนวน 60 เมกะเฮิรตซ์ โดยทางองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย หรือทีโอที ใช้ไปแล้วจำนวน 15 เมกะเฮิรตซ์ จึงเหลือคลื่นที่จะนำมาประมูลจำนวน 45 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งแนวทางการศึกษาจากหลากหลายประเทศทั่วโลกก็จะนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทยด้วยการแบ่งทั้ง 45 เมกะเฮิรตซ์ เป็น 9 ช่อง ช่องละ 5 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อเปิดให้ทุนเล็กมีโอกาสเข้าถึงการประมูล เพราะสามารถประมูลแค่ 1 ช่องหรือหลายช่องก็ได้
ซึ่งด้วยระบบที่วางเอาไว้ให้มีการแข่งขันและจากข่าวที่รับทราบพบว่าเอกชนแต่ละรายแข่งขันกันอย่างหนัก ไม่ได้ร่วมมือกันหรือมีลักษณะเหมือนตลาดสหรัฐอเมริกา คือมีประมาณ 4 ราย แต่ 2 รายแรกมีส่วนแบ่งการตลาดกว่า 90% และไม่แข่งขันกันด้วย
“แต่เป็นข้อดีของตลาดไทยที่เอกชนแข่งขันกัน ทำให้คาดว่าจะไม่มีการร่วมมือหรือฮั้วประมูลกัน และหลังประมูล ราคาการให้บริการจะไม่แพง รวมทั้งรัฐมีรายได้เข้าประเทศได้อย่างสมเหตุผล แต่ก็ขอให้ประชาชนให้ความสนใจเรื่องการประมูล 3จีครั้งแรกนี้ด้วย เพราะเป็นผลประโยชน์ของชาติ ต้องทำให้โปร่งใส หากว่าเราไม่สนใจก็จะเปรียบเหมือนนักการเมืองที่เมื่อประชาชนไม่สนใจก็จะทำให้ตามใจตัวเอง” ดร.พัชรสุทธิ์กล่าว และว่า
การประมูลครั้งนี้มีการวางมาตรการ ทั้งการกำหนดราคาประมูลขั้นต่ำเพื่อป้องกันการฮั้วตามตัวเลขคือ 4,500 ล้านบาท และมีการกำหนดมาตรการลงโทษต่างๆ เอาไว้แล้ว