xs
xsm
sm
md
lg

“วช.-ม.แม่โจ้-คสศ.” ดันไทยเลี้ยง “บึกสยาม” รับ AEC ตีตลาด “ดอลลี่” เวียดนาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ จับมือ ม.แม่โจ้-คสศ. ดันเครือข่ายสหกรณ์ประมงพาน แหล่งเลี้ยงปลานิลใหญ่สุด เลี้ยง “บึกสยาม” นำร่องทำตลาดปลาหนังลูกผสมเนื้อขาว เชื่อตีตลาด “ปลาดอลลี่” ที่ต้องนำเข้าจากเวียดนามปีละกว่า 8 พันล้านได้ในอนาคต

รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ร่วมกับคณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ และสหกรณ์ประมงพาน รวมถึงคณะกรรมการเพื่อพัฒนาโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (คสศ.) หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ จัดโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงปลาหนังลูกผสมเนื้อขาว (บึกสยาม) และปลานิล เพื่อเพิ่มมูลค่าการเกษตรสำหรับเกษตรกร ณ จรัลฟาร์มของบริษัทจรัลฟาร์ม และสหกรณ์ประมงพาน อ.พาน จ.เชียงราย ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีศาสตราจารย์นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยฯเป็นประธานเปิด ท่ามกลางข้าราชการ นักวิชาการ และกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาใน อ.พาน เข้าร่วมจำนวนมาก

และระหว่างที่มีการจัดโครงการนี้ ทุกฝ่ายก็ได้ร่วมกันปล่อยปลาบึกสยาม จำนวน 800 ตัว เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา วันที่ 12 ส.ค.55 พร้อมกับจัดแสดงอาหารแปรรูปจากปลาบึกสยาม ปลาสวาย ฯลฯ ด้วย

ศ.นพ.สุทธิพร กล่าวว่า หลังจากทางคณะกรรมการฯ ได้รับแจ้งว่า พื้นที่ อ.พาน เป็นแหล่งเลี้ยงปลาขนาดใหญ่ และมีปลาคุณภาพ รวมทั้งกลุ่มเกษตรกรมีความเข้มแข็ง รวมตัวกันเป็นสหกรณ์ และประสานกับภาคธุรกิจได้อย่างลงตัว จึงได้เข้าไปศึกษา และพบว่า เป็นอาชีพที่เกษตรกรมีอนาคต แต่ยังมีปัญหาอุปสรรค เช่น ราคา ตลาดในอนาคต ฯลฯ จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ นำการเพาะเลี้ยงปลาบึกสยามเข้าไปเผยแพร่แก่กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ รวมทั้งส่งเสริมการแปรรูปปลาเพื่อให้เป็นธุรกิจที่เข้มแข็งครบวงจร ควบคู่กับการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ และขนส่งไปยังตลาดทั้งใน และต่างประเทศ เพราะในปัจจุบัน ไม่น่าเชื่อว่าประเทศไทยยังต้องนำเข้าปลาดอลลี่ จากประเทศเวียดนาม เพื่อการบริโภคปีละกว่า 8,000 ล้านบาท ทั้งๆ ที่เรามีแหล่งโปรตีนในประเทศที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะปลาบึกสยาม ที่พัฒนาสายพันธุ์จนมีคุณภาพดีแล้ว

นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธาน คสศ. กล่าวว่า ปี 2558 เป็นต้นไป ประเทศไทยจะต้องเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี แต่ที่ผ่านมา มักไม่ค่อยมีใครสนใจเรื่องการส่งออกปลาผ่านการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐาน หรือ GAP (Good Agricultural Practices) มากนัก แต่มักให้ความสนใจเรื่องคุณภาพของพืชผลเพื่อการส่งออกมากกว่า ดังนั้น การพัฒนาเกี่ยวกับการเลี้ยงปลาเพื่อส่งออกครั้งนี้จึงมีความสำคัญอย่างมาก ถ้าสำเร็จก็จะสามารถเจาะตลาดปลาน้ำจืดในเออีซีได้ ซึ่งจะสามารถเพิ่มตลาด และแก้ไขปัญหาเรื่องราคาในอนาคตได้

ดร.เกรียงศักดิ์ เม่งอำพัน นักวิชาการโครงการฯ กล่าวว่า พื้นที่ อ.พาน มีความเหมาะสมในการดำเนินโครงการ เพราะมีสมาชิกสหกรณ์กว่า 2,000 ครอบครัวที่เลี้ยงปลา และมีกลุ่มเกษตรกรรวมกันกว่า 8,000 คน พื้นที่เลี้ยงปลากว่า 6,000 ไร่ ให้ผลผลิตปลาออกสู่ตลาดปีละกว่า 6,000 ตัน ส่วนใหญ่เป็นปลานิล เพียงแต่ปัจจุบัน มีปัญหาเรื่องต้นทุนที่สูงขึ้น และปลาล้นตลาด ขณะที่ปลาประเภทปลาหนังเนื้อขาว กำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากขึ้น

ดังนั้น ทางโครงการฯ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก วช.จึงได้วิจัยจนสามารถเพาะพันธุ์ปลาบึกสยาม เป็นการผสมระหว่างพ่อปลาบึก-แม่ปลาสวาย เมื่อได้ลูกก็นำมาผสมพันธุ์กันเองเป็นรุ่นหลาน คือ ปลาบึกสยาม ซึ่งพบว่า เจริญเติบโตได้ดี ทั้งในกระชัง-บ่อดิน เนื้อมีสีขาวอมชมพู จึงมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นปลาเศรษฐกิจตัวใหม่ได้ และน่าจะมีคุณภาพดีกว่าปลาดอลลี่ที่ต้องนำเข้าจากเวียดนามเสียอีก

ทั้งนี้ ทางคณะนักวิจัยยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ โดยจะมีการวิจัยเพื่อพัฒนาสายพันธุ์นี้ในรุ่นต่อๆ ไป เพื่อให้ได้ปลาที่มีเปอร์เซ็นต์เนื้อปลาต่อตัวมาก ต้นทุนก็จะต่ำกว่า อัตราการรอดจากการเลี้ยงสูง ฯลฯ ต่อไป

สำหรับปลาบึกสยามที่เพาะพันธุ์ได้ใหม่นี้ มีคุณสมบัติที่ดีกว่าปลาบึก ปลาสวายและปลาลูกผสมของทั้งสองสายพันธุ์ โดยมีเปอร์เซ็นต์เนื้อกว่า 45% อัตราการโตในบ่อดิน และการทนต่อโรคอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก ขณะที่ปลาบึกมีเนื้อแค่ 35% ส่วนปลาสวายมี 30% และอัตราการโตในบ่อดินอยู่ในระดับปานกลาง ขณะที่การทนโรคอยู่ในเกณฑ์ดีเท่านั้น ด้านปลาลูกผสมก็มีเนื้อ 40% และอัตราการโตในบ่อดินอยู่ในเกณฑ์ดีเท่านั้นเช่นกัน

นางกาญจนา คำพุฒ ประธานสหกรณ์ประมงพาน กล่าวว่า สหกรณ์ฯ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2543 เป็นการรวมตัวกันเพื่อพัฒนาคุณภาพปลา และต่อรองกับพ่อค้าคนกลางอย่างได้ผล ทั้งนี้ที่ผ่านมา เน้นการเลี้ยงปลานิลเป็นหลัก โดยมีตลาดเป็นทุกจังหวัดทั่วภาคเหนือของไทย ปีนี้ถือว่าราคาปลานิลดีมาก โดยตัวที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 6 ขีดขึ้นไป กิโลกรัมละ 52 บาท ต่ำกว่า 6 ขีดกิโลกรัมละ 40 บาท แต่ราคาก็ขึ้นลงไม่แน่นอน โดยปีก่อน ราคาเคยตกลงมากถึงกิโลกรัมละ 38 บาท ซึ่งเป็นราคาต้นทุน ดังนั้น จึงมีการส่งเสริมการแปรรูปด้วยเพื่อเพิ่มมูลค่า

สำหรับการเลี้ยงปลาบึกสยามเป็นพันธุ์ที่พึ่งค้นพบใหม่ ดังนั้น เกษตรกรคงจะทดลองเลี้ยงไประยะหนึ่ง หากได้ผลก็จะขยายการเลี้ยงต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น