xs
xsm
sm
md
lg

สำรวจเบื้องต้นภาพเขียนสีถ้ำผาพุงอายุหลายพันปี เตรียมขึ้นทะเบียนกรมศิลป์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เขียนภาพสีรูปช้าง สันนิษฐานว่ามนุษย์โบราณใช้สีแดงที่ทำจากแร่เหล็กนำมาบดละเอียดผสมยางไม้เขียนลงบนหน้าผา บริเวณถ้ำผาพุง อ.วังสะพุง จ.เลย
เลย- พิสูจน์เบื้องต้นแล้ว ภาพเขียนสีถ้ำผาพุง อ.วังสะพุง จ.เลย เป็นภาพเขียนโบราณจริงอายุหลายพันปี เตรียมเสนออธิบดีกรมศิลปากรส่งนักโบราณคดีลงพื้นที่ศึกษาเชิงลึก ก่อนขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้แห่งใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจารึก วิไลแก้ว ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 9 ขอนแก่น พร้อมคณะได้เดินทางขึ้นไปบนถ้ำผาพุง บ้านแก่งหิน ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เพื่อสำรวจข้อมูลภาพเขียนสีบนหน้าผาของถ้ำผาพุง ปรากฏมีภาพเขียนบนหน้าผา 20 จุด โดยจุดแรกเดินขึ้นบันไดไปยังตัวถ้ำประมาณ 200 เมตร พบบริเวณปากถ้ำเป็นภาพโครงร่าง ทิวทัศน์ภูเขา และทุ่งนา บอกถึงวิถีชีวิตท้องถิ่น แต่ภาพเลือนรางมากเนื่องจากถูกแสงแดด และน้ำฝน

ส่วนจุดที่สอง ต้องปีนป่ายไปตามหน้าผาสูงชันมาก ขึ้นไปอีกประมาณ 100 เมตร ภาพดังกล่าวประกอบด้วย รูปช้างดูเหมือนผูกโบ รูปเต่า และรูปทุ่งนา ภาพเขียนที่เป็นรูปช้างพบที่นี่แห่งแรกในประเทศไทย

นายจารึก วิไลแก้ว ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 9 กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นหลังจากได้รับแจ้งจากกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด โดยข้อมูลที่ได้จากการสำรวจศึกษาเบื้องต้นจะรายงานไปยังอธิบดีกรมศิลปากรเพื่อให้คณะโบราณคดีเข้ามาทำการคัดลอกภาพดังกล่าวไปศึกษาวิเคราะห์ในรายละเอียด และแจ้งผลการศึกษาให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย วัฒนธรรมจังหวัดเลย และองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวงรับทราบ

หลังจากนั้นจะต้องขึ้นทะเบียนแหล่งโบราณสถานขอบเขตภูเขาทั้งลูกไว้ ซึ่งท้องถิ่นสามารถตั้งงบประมาณหรือทำโครงการให้ความรู้แก่เด็กนักเรียนแถบนี้ว่า ถ้ำผาพุงมีความสำคัญ เกี่ยวข้องกับภาพเขียนสีที่พบดังกล่าว

นอกจากนี้ยังพบแหล่งโบราณสถานอื่นๆ อีกในพื้นที่จังหวัดเลย เช่น ถ้ำลายแทง อำเภอภูกระดึง ถ้ำมโหฬาร อำเภอหนองหิน และถ้ำผาปู่ อำเภอเมืองเลย ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความสำคัญทั้งสิ้น

โดยเฉพาะภาพเขียนสีที่พบบริเวณถ้ำน้ำพุงนั้นแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนยุคดึกดำบรรพ์เมื่อ 3,000-4,000 ปีมาแล้วว่ามีวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร

“พื้นที่ตรงนี้น่าจะเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมของคนที่อาศัยอยู่แถบนี้ พอเห็นอะไรก็ระบายออกมาด้วยการเขียนภาพสี โดยใช้สีแดงที่ทำจากแร่เหล็กนำมาบดละเอียดผสมยางไม้เขียนลงบนหน้าผา” นายจารึกกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น