เชียงราย - แม่น้ำโขงที่พรมแดนเชียงรายเริ่มลดระดับลง หลังก่อนหน้านี้ทะลักขึ้นสูงท่วมไร่ข้าวโพด-สวนหอมแดงของชาวบ้านที่ปลูกไว้บริเวณริมฝั่งน้ำโขงเสียหายแทบทั้งหมดจนขาดทุนถ้วนหน้า แถมล่าสุดยังถูกนายทุนจ้องฮุบที่งอก หวังหาช่องออกเอกสารสิทธิขายต่อนายทุนเกาหลี
วันนี้ (4 ส.ค.) มีรายงานจากจังหวัดเชียงรายว่า หลังจากระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นสูงในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุดระดับน้ำเริ่มลดลง แต่ยังคงมีฝนตกลงมาต่อเนื่องนั้น ทำให้ไร่ข้าวโพดและหอมแดงของชาวบ้านที่ปลูกอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำโขง แถบ อ.เชียงแสน ชายแดนไทย-สปป.ลาว โดยเฉพาะชาวบ้านที่เข้าไปเพาะปลูกตามพื้นที่งอกเงยริมฝั่งโขงบ้านห้วยเกี๋ยง ม.8 ต.เวียง อ.เชียงแสน ไปจนถึง ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน รวมเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 100 ไร่ ถูกน้ำโขงทะลักเข้าท่วมผลผลิตของเกษตรกรกำลังรอช่วงเก็บเกี่ยวอีกเพียงไม่นานจนเสียหายแทบทั้งหมด
รายงานข่าวแจ้งอีกว่าระดับน้ำที่ท่วมสูงจนส่งผลกระทบดังกล่าวศูนย์อุทกวิทยา อ.เชียงแสน วัดความลึกที่ อ.เชียงแสน ได้ประมาณ 8-9 เมตร ซึ่งหากเพิ่มสูงกว่านี้ก็จะเข้าท่วมบ้านเรือนที่อยู่ริมแม่น้ำ ขณะที่ในปัจจุบันลดลงเหลือประมาณ 6 เมตร ทิ้งไร่ข้าวโพด-หอมแดงที่เสียหายยับเยินให้เห็นได้อย่างชัดเจน
ขณะเดียวกันในช่วงที่เกษตรกรกำลังได้รับความเดือดร้อนจากน้ำโขงเพิ่มระดับทะลักท่วมพืชผลทางการเกษตรอยู่นั้น มีรายงานว่าได้มีกลุ่มทุนกลุ่มหนึ่งพยายามจะเข้าไปจับจองที่งอก และชาวบ้านใช้ปลูกข้าวโพดและหอมแดงดังกล่าว โดยพยายามเข้าไปติดต่อกับชาวบ้านเพื่อขอซื้อในราคาถูก
พื้นที่งอกเงยริมแม่น้ำโขงดังกล่าว มีมากบริเวณติดฝั่งบ้านห้วยเกี๋ยง ต.เวียง และที่ใกล้สะพานแม่น้ำกกที่ ต.บ้านแซว โดยพื้นที่บ้านห้วยเกี๋ยงถือเป็นทำเลทองที่กลุ่มทุนมีความต้องการมากที่สุด เนื่องจากปัจจุบันกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ก่อสร้างแนวคอนกรีตป้องกันตลิ่งพังตั้งแต่บ้านสบรวก ม.1 ต.เวียง ใกล้สามเหลี่ยมทองคำ เรื่อยมาจนถึงใกล้เขตเทศบาล ต.เวียงเชียงแสน โดยใช้งบประมาณ 580 ล้านบาท ระยะทาง 5,800 เมตร มีกำหนดจะสร้างเสร็จในปี 2557 นี้ จึงทำให้พื้นที่ทางการเกษตรที่เคยถูกน้ำท่วมในช่วงดังกล่าวถูกกันให้อยู่ภายในแนวคอนกรีต และไม่กลายเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการถูกกัดเซาะจนหายไปกับแม่น้ำโขงเหมือนในอดีตอีกต่อไป
นอกจากนี้ มีการปล่อยข่าวว่ามีกลุ่มทุนจากเกาหลีต้องการที่ดินประมาณ 100 ไร่เพื่อทำธุรกินชายแดนตรงกันข้ามโครงการคิงส์โรมันฯ ของกลุ่มทุนจีนที่เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว จึงมีนักธุรกิจท้องถิ่นร่วมกับแกนนำชาวบ้านบางคนออกตระเวนกว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้าน เพื่อพยายามให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าไปสำรวจที่ดิน และออกเอกสารที่เกี่ยวข้องให้เพื่อพัฒนาที่ดินไปจนถึงขั้นออกโฉนดในอนาคตต่อไปด้วย