xs
xsm
sm
md
lg

ชาวน่านระดมเงิน-แรงงานย้ายบ้านหนีโคลนถล่ม จวกของบรัฐช่วยเกือบปีไม่คืบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


น่าน -ชาวบ้านมณีพฤกษ์ 2 ตัดสินใจระดมเงิน-แรงงานภายในชุมชนตัวเองเร่งย้ายบ้านเสี่ยงภัย 100% หนีโคลนถล่มก่อน 11 หลัง แต่ยังเหลืออีก 25 หลังคาเรือนที่ต้องทนอยู่ไปก่อน เหตุขาดงบ-พื้นที่ใหม่ เผยขออำเภอ-จังหวัดฯ ช่วยมานานเกือบปีแล้ว แต่จนถึงวันนี้เข้าฝนอีกรอบยังไร้ความคืบหน้าใดๆ

วันนี้ (31 ก.ค.) นายเอกพจน์ ทะกอง เจ้าหน้าที่ฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อบต.งอบ อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน ได้เข้าติดตามและให้ความช่วยเหลือชาวบ้านมณีพฤกษ์ จำนวน 11 ครอบครัว ที่ต้องระดมเงินและแรงงานในหมู่บ้านเพื่ออพยพย้ายบ้านที่มีความเสี่ยงภัยพื้นดินทรุดตัว และในช่วงฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันทำให้ดินเชิงเขาเหนือหมู่บ้านอุ้มน้ำ เสี่ยงดินโคลนถล่มทับหมู่บ้านเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ขณะที่ทั้งหมู่บ้านยังมีชาวบ้านตกค้างอีก 25 ครัวเรือน ต้องเตรียมหาเงินอพยพย้ายหนีด้วยเช่นกัน หลังพยายามร้องขอเงินงบประมาณจากรัฐนานเกือบปียังไม่มีความคืบหน้า

นายเอกพจน์กล่าวว่า อบต.งอบได้เข้าดำเนินการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นและรายงานไปยังอำเภอ จังหวัดตามลำดับชั้นตั้งแต่พบรอยแยกผ่ากลางหมู่บ้านเมื่อปี 2554 แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้า จนเข้าฤดูฝนอีกครั้งชาวบ้านจึงตัดสินใจใช้เงินของตัวเอง และใช้แรงงานคนในหมู่บ้านช่วยกันรื้อย้ายบ้านไปก่อนจำนวน 11 หลังคาเรือนเนื่องจากมีความเสี่ยงภัยสูง 100% เพื่อนำไปปลูกสร้างในพื้นที่บริเวณเนินสูงสันเขาสามแยกของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวนฯ โดยอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ได้ผ่อนปรนให้ชาวบ้านได้ใช้ที่ดินเพื่อสร้างบ้านจำนวน 13 ไร่

และยังมีอีก 25 หลังคาเรือนที่เสี่ยงภัยและรอการรื้อย้าย แต่ก็ยังติดขัดเรื่องของพื้นที่ไม่เพียงพอที่จะย้ายไปทั้งหมู่บ้าน ซึ่งต้องใช้เนื้อที่กว่า 20 ไร่ อีกทั้งงบประมาณในการย้ายก็เกินขีดความสามารถของ อบต.งอบ

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจครัวเรือนที่มีความเสี่ยงในการอยู่อาศัยในขั้นต้องรื้อย้ายพบว่าโดยข้อเท็จจริงแล้วมีจำนวน 76 ครัวเรือน เป็นพื้นที่บ้านมณีพฤกษ์ 1 จำนวน 40 ครัวเรือน และบ้านมณีพฤกษ์ 2 จำนวน 36 ครัวเรือน

นายสุทธิพงษ์ ยอดออน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมณีพฤกษ์ 2 เปิดเผยว่า หมู่บ้านมณีพฤกษ์ 2 มีทั้งหมด 36 หลังคาเรือน และศูนย์เด็กเล็ก 1 แห่ง โดยสภาพพื้นที่ของหมู่บ้านมีความเสี่ยงดินทรุดตัวเนื่องจากชั้นดินด้านล่างเป็นหินและทับถมด้วยดิน เมื่อเวลาฝนตกน้ำเซาะลงใต้ดินทำให้เกิดการทรุดตัวได้ และเมื่อเดือนกันยายน ปี 2554 ได้เกิดรอยแยกมาตามสันเขาผ่ากลางหมู่บ้านเป็นรอยยาวกว่า 300 เมตร ทำให้มีความเสี่ยงที่ดินจะสไลด์หรือทรุดตัวลงหุบเหวได้

นอกจากนี้ ช่วงที่เกิดฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันจะส่งผลให้ดินบริเวณเชิงเขาเหนือหมู่บ้านที่อุ้มน้ำจนชุ่ม อาจเกิดดินโคลนถล่มทับหมู่บ้านด้างล่างได้ ทำให้ขณะนี้ทั้งหมู่บ้านมีความเสี่ยงที่ดินจะทรุดตัวลงหุบเหว และยังเสี่ยงที่ดินโคลนจะถล่มทับหมู่บ้านด้วย จำเป็นต้องเร่งอพยพย้ายบ้านที่มีความเสี่ยง 100% จำนวน 11 หลังคาเรือนออกจากพื้นที่เป็นการเร่งด่วน ส่วนอีก 25 หลังคาเรือนก็เตรียมอพยพย้ายเหมือนกัน แต่ติดปัญหาเรื่องเงินงบประมาณและที่อยู่แห่งใหม่

นายเครือ ยอดออน อยู่บ้านเลขที่ 92 ม.11 บ้านมณีพฤกษ์ 2 ต.งอบ อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน หนึ่งในบ้าน 11 หลังที่เสี่ยงสูงต้องย้ายออกมาจากพื้นที่ เล่าว่า ปีที่แล้วเกิดรอยแยกผ่าเข้าบ้าน จนเสาและตัวบ้านได้รับความเสียหายต้องรื้อบ้านหลังเก่าออกมาปลูกสร้างใหม่ โดยใช้เงินส่วนตัวไปแล้วกว่า 30,000 บาท แต่พื้นที่ใหม่ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดดินทรุดตัวและสไลด์ได้อีก เวลาฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันก็ยังกังวลว่าจะไม่ปลอดภัย เช่นเดียวกับบ้านอีก 4 หลังที่ปลูกใหม่ในพื้นที่ซึ่งยังมีความเสี่ยงอยู่ แต่ก็ด้วยความจำเป็นเนื่องจากไม่มีที่ดินแปลงใหม่ที่ปลอดภัยกว่านี้อีกแล้ว

“อยากวอนขอให้ทางหน่วยราชการได้เข้ามาแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการอพยพย้ายบ้านของชาวบ้าน และขอให้จัดหาที่แห่งใหม่ที่ปลอดภัยด้วย”

สำหรับสถานการณ์สภาพอากาศในขณะนี้ทำให้ชาวบ้านวิตกกังวลอย่างมาก เนื่องจากช่วงนี้มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งในหมู่บ้านมีทั้งเด็กเล็ก คนชรา และคนพิการ ซึ่งหมู่บ้านมณีพฤกษ์ 2 เป็นหมู่บ้านเสี่ยงภัยที่สำรวจใหม่ จึงยังไม่มีมิสเตอร์เตือนภัยและเครื่องมือเตือนภัย หากมีฝนตกหนักต้องใช้วิธีเป่านกหวีดแจ้งเตือนภัยให้ชาวบ้านหนีมารวมตัวกันที่ศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งตั้งอยู่เหนือหมู่บ้านเพื่อความปลอดภัย แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อประสบภัยดินโคลนถล่มก็เป็นการยากลำบากในการติดต่อขอความช่วยเหลือ เนื่องจากหมู่บ้านไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ การติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกลำบาก ที่สำคัญต้องใช้เวลานานกว่า 2 วันกว่าการช่วยเหลือจะเข้าถึงหมู่บ้านเนื่องจากเป็นพื้นที่ห่างไกล




กำลังโหลดความคิดเห็น