xs
xsm
sm
md
lg

อุบลฯ สั่งปิด ร.ร.สกัดโรคมือเท้าปาก 1 สัปดาห์ หลังพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 3 เท่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โรงเรียนแห่งหนึ่งในเขตเทศบาลนครอุบลฯได้สั่งปิดเรียนชั้นอนุบาลเป็นเวลา 1 สัปดาห์หลังพบเด็กติดเชื้อโรคมือเท้าปาก
อุบลราชธานี - พบการระบาดโรคมือ เท้า ปากในพื้นที่อีสานใต้ แต่เป็นคนละชนิดที่ระบาดในกัมพูชาจึงไม่มีผู้เสียชีวิต แต่ต้องปิดโรงเรียนทำความสะอาดอย่างน้อย 1 สัปดาห์ โดยปี 2555 พบผู้ป่วยกว่า 600 คน พบมากที่สุดที่ จ.อุบลราชธานี 304 คน สั่งสกัดตามแนวชายแดนไทย ลาว กัมพูชา ป้องกันเชื้อแพร่เข้าสู่ประเทศ

วันนี้ (16 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีมีการระบาดของเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 ของโรคมือ เท้า ปากในเด็กชาวกัมพูชา สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.อุบลราชธานี สั่งให้พื้นที่ตามชายแดนไทย กัมพูชา และลาว คัดกรองเด็กที่จะเดินทางผ่านแดน เพื่อสกัดกั้นเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 เข้ามาแพร่ระบาดในประเทศ

ขณะเดียวกันก็พบการระบาดโรคมือ เท้า ปาก ที่โรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งในเทศบาลนครอุบลราชธานี โดยเป็นเชื้อคอกแซกกีเอ 16 ซึ่งเป็นเชื้อคนละชนิดที่พบในกัมพูชา และไม่มีความรุนแรงถึงชีวิต แต่ทางโรงเรียนได้สั่งปิดเรียนชั้นอนุบาลเป็นเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อพ่นยาฆ่าเชื้อกักกันโรคและล้างทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องเล่นไม่ให้แพร่ระบาด ส่วนชั้นประถม 1-6 ยังเปิดทำการเรียนการสอนตามปกติ

สำหรับที่โรงพยาบาลศูนย์สรรพสิทธิประสงค์ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขให้เป็นวอร์รูมรับผู้ป่วยโรคดังกล่าวมีการจัดนิทรรศการเผยแพร่ความรู้วิธีป้องกันโรค โดยทีมแพทย์เด็กของโรงพยาบาลจะทำหน้าที่คัดกรองเด็กที่เข้าข่ายต้องสงสัยมารักษา

รวมทั้งเป็นแม่ข่ายในการประสานกับโรงพยาบาลประจำอำเภอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อให้ความรู้แก่ศูนย์รับเลี้ยงเด็กเล็กและโรงเรียนประถมให้ป้องกันการติดเชื้อดังกล่าวด้วยการทำความสะอาดของเล่นและโต๊ะเรียน

ด้าน นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.อุบลราชธานี เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ถึงวันที่ 7 ก.ค. พบผู้ป่วยในเขตพื้นที่อีสานใต้ 7 จังหวัด จำนวน 624 ราย และพบผู้ป่วยมากที่สุดในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาจำนวน 204 ราย โดยเป็นชื้อคอกแซกกีเอ 16 ซึ่งไม่มีความรุนแรง จึงยังไม่มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าวแม้แต่รายเดียว

สำหรับจังหวัดที่มีผู้ป่วยมากที่สุดคือ จ.อุบลราชธานี 304 ราย ซึ่งเพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาราว 3 เท่า
แม้เชื้อโรคมือเท้าปากที่พบจะคนละชนิดเดียวกันกับที่ระบาดในกัมพูชาแต่ก็ไม่น่าไว้วางใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น