กาฬสินธุ์ - จังหวัดกาฬสินธุ์ซ้อมเข้มเตรียมพร้อมร่วมพิธีเปิดโครงการอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ใช้นักเรียนในอำเภอเขาวงกว่า 600 คนทำการแปรอักษร เผยพื้นที่เกษตรในอำเภอเขาวงได้รับประโยชน์ครอบคลุมร่วม 12,000 ไร่ ช่วยให้เกษตรกรมีน้ำใช้เพื่อการเกษตรได้ตลอดทั้งปี
วันนี้ (4 ก.ค.) นักเรียน นักศึกษา คณะอาจารย์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมกันฝึกซ้อมร่วมพิธีเปิดโครงการอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในเขตพื้นที่อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งจะมีพิธีเปิดขึ้นในวันที่ 7 กรกฎาคม 2555 พร้อมกันกับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริอื่นอีก 4 แห่งทั่วประเทศ
นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า จังหวัดกาฬสินธุ์มีการเตรียมพร้อมให้เจ้าหน้าที่ได้ปรับภูมิทัศน์ เน้นความเขียวขจีของพันธุ์ไม้ให้กลมกลืนกับพื้นที่และนำนักเรียนจำนวน 625 คนฝึกซ้อมการแปรอักษรเพื่อใช้ในพิธีเปิดงานฯ ดังกล่าว โดยมีนักเรียนจากวิทยาลัยเทคนิคเขาวง โรงเรียนเขาวงพิทยาคม และโรงเรียนพุทโธภาวนาประชาสรรค์ เข้าร่วมการแปรอักษรครั้งนี้
สำหรับการแปรอักษรนั้น ทั้ง 5 โครงการจะได้รับการแปรอักษรแตกต่างกันไป หากรวมทุกตัวอักษรแล้วจะได้คำว่า “ ทรงพระเจริญ” โดยจังหวัดกาฬสินธุ์ได้ตัวอักษรภาษาไทย สระเอ และตัว จ.จาน
สำหรับโครงการอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในเขตพื้นที่อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รับพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2537 แล้วเสร็จและเปิดใช้มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2552 เป็นอุโมงค์ลอดใต้ภูเขาขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 750 เมตร ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่สามารถเจาะทะลุภูเขาจากจังหวัดมุกดาหารข้ามไปยังจังหวัดกาฬสินธุ์
โดยการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร ผ่านระบบท่อส่งน้ำความยาว 33.5 กิโลเมตร มายังตำบลคุ้มเก่า อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ครอบคลุมพื้นที่ 12,000 ไร่ ช่วยให้เกษตรกรมีน้ำใช้เพื่อการเกษตรได้ตลอดทั้งปี
ทั้งนี้ น้ำที่ส่งมาจะถูกเก็บไว้ในถังพักน้ำจุได้ 2,350 ลูกบาศก์เมตร โดยน้ำที่เก็บไว้ดังกล่าวจะถูกส่งต่อไปเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งแก่บรรดาพี่น้องเกษตรกรในอำเภอเขาวง ระบบส่งผ่านท่อไปมากมายหลายสายไปยังปลายทางพื้นที่ของเกษตรกรโดยตรง และระบบการส่งน้ำตามท่อต่างๆ นี้มีชื่อที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า รากฝอย
ซึ่งประชาชนชาวกาฬสินธุ์ได้รับประโยชน์ช่วงการทำนาปี และหากฝนทิ้งช่วงจะปล่อยน้ำไปให้ราษฎรโดยมีสระเก็บกักน้ำไว้อีกที่หนึ่ง ราษฎรที่อยู่ไกลสามารถนำท่อสายยางมาต่อกับก๊อกน้ำที่มีอยู่ตามถนนเพื่อนำน้ำไปใช้ได้เลย