ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - อธิบดี ปภ.ขึ้นเชียงใหม่ตรวจเยี่ยมการติดตั้งระบบเตือนภัยน้ำป่าไหลหลาก-ดินถล่ม เผยได้ “เนคเทค” ดูแลติดตั้งในพื้นที่เสี่ยงสูง 243 หมู่บ้าน ใช้ระบบอัตโนมัติวัดปริมาณน้ำฝน-เก็บข้อมูลตรวจวัดอื่นๆ หากพบน้ำฝนในพื้นที่สูงเกิน 100 มิลลิเมตรเครื่องจะส่ง SMS แจ้งเตือนผู้รับผิดชอบทันที
วันนี้ (30 มิ.ย.) นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อมด้วย นายชูชาติ กีฬาแปง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และคณะ เดินทางไปตรวจเยี่ยมการติดตั้งระบบเตือนภัยน้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ภายใต้โครงการป้องกันและแก้ไขอุทกภัยกรณีเร่งด่วน (Flagship) ที่บ้านม้งดอยปุย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวโครงการติดตั้งระบบเตือนภัยน้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ และผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการภูมิภาค-ภาคเหนือ บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เพื่อประกาศความพร้อมในการติดตั้งระบบเฝ้าระวังเตือนภัยน้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มใน จ.เชียงใหม่
โครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการป้องกันและแก้ไขอุทกภัยกรณีเร่งด่วน (Flagship) ที่รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 12 ล้านบาทเศษให้แก่ จ.เชียงใหม่ โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เป็นหน่วยงานดำเนินการติดตั้งระบบเตือนภัยในพื้นที่สีแดง หรือพื้นที่เสี่ยงสูง จำนวน 22 อำเภอ 243 แห่ง
ระบบเตือนภัยน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม จะมีสถานีตรวจวัดระยะไกลอัตโนมัติ ทำงานด้วยพลังไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ พร้อมทั้งติดตั้งอุปกรณ์กระบอกวัดปริมาณน้ำฝน กับเซ็นเซอร์วัดอุณหหภูมิ และความชื้นอากาศ โดยระบบจะทำงานแบบอัตโนมัติด้วยการบันทึกและเก็บค่าปริมาณน้ำฝน
รวมไปถึงข้อมูลตรวจวัดอื่นๆ อย่างอุณหภูมิ และความชื้นในอากาศทุกๆ 5 นาที หากปริมาณน้ำฝนเพิ่มสูงถึงถึงระดับ 100 มิลลิเมตร ระบบจะทำการแจ้งเตือนภัยผ่านข้อความสั้น หรือ SMS ไปสู่โทรศัพท์มือถือของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไป
ด้านผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่เสี่ยงภัยนั้น เมื่อได้รับการแจ้งเตือนแล้ว ก็จะได้เร่งแจ้งประชาชนผ่านหอกระจายข่าว หรือไซเรนมือหมุน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เตรียมการอพยพไปยังสถานที่ปลอดภัยต่อไป
ทั้งนี้ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีระบบสมองกลฝังตัวเข้ามาช่วยในการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อวางแผนการรับมือ และตัดสินใจในสถานการณ์ต่างๆ ในช่วงของการเฝ้าระวังก่อนเกิดเหตุ หรือรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยในขณะนี้ได้ดำเนินการติดตั้งระบบเตือนภัยครบทั้ง 243 แห่งแล้ว
ขณะที่ บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ได้มอบซิมการ์ดโทรศัพท์ 244 เลขหมาย สำหรับใช้ติดตั้งในสถานีตรวจวัดอากาศ จำนวน 243 แห่ง และติดตั้งในแม่ข่ายอีก 1 แห่ง อีกทั้งยังสนับสนุนค่าใช้บริการในการส่งข้อมูลปริมาณน้ำฝน และข้อมูลตรวจวัดอื่นๆ และการส่งข้อความสั้น หรือ SMS ไปยังผู้ที่ทำหน้าที่ในการเฝ้าระวัง และรับผิดชอบโดยตรง รวมมูลค่าประมาณ 1 ล้านบาทอีกด้วย