ศูนย์ข่าวศรีราชา - โชห่วยช่วยชาติ "ร้านค้าถูกใจ" เมืองแปดริ้ว ออกโรงโวยยุทธศาสตร์ช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนของกระทรวงพาณิชย์ ไม่ดีจริงอย่างพูด ชี้ลงทุนเปิดร้านมานาน ยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือวันละ 300 บาท ซ้ำสินค้าราคาถูกที่สั่งเข้าร้านยังมาไม่ถึง ขณะที่ราคาก็ไม่ต่างจากท้องตลาดทั่วไป
นายสมชาย ตันวัฒนะ เจ้าของร้านโชว์ห่วยในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเข้าร่วมโครงการ “ร้านค้าถูกใจ โชห่วยช่วยชาติ” กล่าวว่า หลังร้านค้าของตน ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 87/6หมู่ 14 ตำบลท่าไข่ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้เข้าร่วมโครงการโดยตกลงที่จะรับสินค้าจากกรมการค้าภาย กระทรวงพาณิชย์ เพื่อจำหน่ายให้กับชาวบ้านในหมู่บ้าน กลับพบว่าปัจจุบันการกระจายสินค้าของกรมการค้าภายในกลับยังมาไม่ถึงมือ และยังไม่มีสินค้าใดๆส่งเข้ายังร้านค้าแม้แต่ชิ้นเดียว ทั้งที่ตนได้เริ่มสั่งสินค้าไปตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของโครงการ คือเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา หลังได้รับรหัสประจำร้านค้าแล้ว
“ จึงอยากฝากถามไปยังรัฐบาล และผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ว่าปัญหาความล่าช้าที่เกิดขึ้น ติดขัดอยู่ที่จุดใด เพราะเกือบหนึ่งเดือนเต็มแล้วที่ได้สั่งซื้อสินค้าไปทางระบบไปรษณีย์แต่ก็ยังไม่ได้สินค้า ทำให้มองว่าโครงการนี้ไม่น่าประสบความสำเร็จ และคงไม่สามารถช่วยเหลือและลดค่าครองชีพให้กับประชาชนได้ เนื่องจากสินค้าบางรายการไม่เป็นที่รู้จักของประชาชน และชาวบ้านไม่นิยมใช้” นายสมชาย กล่าว
และจากการสอบถามไปยังผู้ค้าบางราย ของผู้สื่อข่าวยังพบว่าราคาสินค้าบางรายการ ที่ถูกกำหนดมาจากกรมการค้าภายในมีราคาไม่แตกต่างไปจากท้องตลาด หรืออาจมีราคาถูกกว่าในห้างสรรพสินค้าเพียงบาทเดียวเท่านั้น
เช่นเดียวกับ นางไพลิน เฟื่องเจริญ อายุ 53 ปี อีกหนึ่งผู้ประกอบการร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า ตนได้สั่งซื้อสินค้าในโครงการนานกว่า 3 สัปดาห์แล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับสินค้าแม้แต่ชิ้นเดียว และสินค้าที่มีขายอยู่ภายในร้านก็หมดลงไปแล้ว จึงทำให้ไม่กล้าสั่งซื้อใหม่ เพราะเกรงว่าหากสินค้าที่สั่งไปกับโครงการถูกส่งมาถึงยังร้านจะซ้ำซ้อนกันและจะยิ่งทำให้สับสน เพราะราคาที่ถูกกำหนดมาแตกต่างกัน
ด้านนางกุลชุลี มั่นยิ่ง อายุ 40 ปี ชาวตำบลบางพระ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา กล่าวว่าที่ผ่านมาได้ถูกเจ้าหน้าที่โครงการชักชวนให้เข้ามาร่วมโครงการกับกรมการค้าภายใน และยังให้ข้อมูลว่าโครงการนี้ จะมีงบประมาณสนับสนุนร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการวันละ 300 บาท
สำหรับจ้างลูกจ้างเข้ามาดูแล ตนจึงติดต่อว่าจ้างเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้กัน ให้เข้ามาช่วยขายสินค้าเพื่อจะได้ใช้เงินตามโครงการดังกล่าวในการจ้าง
แต่นับตั้งแต่เซ็นสัญญากับกรมการค้าภายใน ปัญหาที่พบก็คือ สินค้ายังมาไม่ถึง ขณะที่ค่าจ้างลูกจ้างวันละ 300 บาทก็ยังเบิกไม่ได้ ทำให้ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก