xs
xsm
sm
md
lg

นักเรียน ม.ปลายจันท์ คิดประดิษฐ์ “เครื่องเตือนภัยน้ำท่วม”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักเรียนม.ปลายจันท์ คิดประดิษฐ์ เครื่องเตือนภัยน้ำท่วม
จันทบุรี - นักเรียนมัธยมปลายจันทบุรี คิดประดิษฐ์ “เครื่องเตือนภัยน้ำท่วม” หวังช่วยเหลือประชาชนอีกด้านหนึ่ง โดยนำวัสดุอุปกรณ์ราคาถูก แต่มีประสิทธิภาพสูง ควบคุมด้วยระบบรีโมตคอนโทรล

จากงานศิลปหัตถกรรมของนักเรียนในทั่วประเทศ ได้มีการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ นานา เกิดขึ้นมากมาย และที่โรงเรียนลาซาล จันทบุรี มารดาพิทักษ์ ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 17 ได้มีกลุ่มนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/1 คือ นายสุรศักดิ์ แก้วยก, นายธงชัย ตั้งวงษ์พุทธิกุล, นายรัญชน์ จินดาวงศ์, นายธำรงชัย จิตรแน่ และนายนภดล แซ่จัน โดยมี น.ส.มัทนี สีมา และนายปกรณ์ เทศกาล เป็นครูที่ปรึกษา และมี ภราดา ประภาส ศรีเจริญ ผู้อำนวยการโรงเรียนลาซาลจันทบุรี มารดาพิทักษ์ รวมถึงคณะอาจารย์ทุกๆ คนให้การสนับสนุน

สำหรับ “เครื่องเตือนภัยน้ำท่วม” นั้น ได้นำวัสดุอุปกรณ์ ประกอบด้วย ท่อน้ำพีวีซี ยาว 135 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 11 ซม. ข้อต่อพีวีซี ขนาด 4 นิ้ว, แบตเตอรี่แห้ง 12 V, ลูกลอย, ไซเรน, ไฟไซเรน, สว่าน, เลื่อย, หัวบัดกรี, สายไฟ, คีม, ตลับเมตร, รีโมต, สติกเกอร์สะท้อนแสงสีขาว มาทำการประดิษฐ์สร้างเครื่องดังกล่าวขึ้น และนำไปทดลองโดยอาศัยหลักการของแรงดันน้ำ โดยให้ลูกลอยของ “เครื่องเตือนภัยน้ำท่วม” ต่ำกว่าระดับพื้นประมาณ 11 ซม. ตั้งสัญญาณไซเลนเสียงดังประมาณ 110-120 เดซิเบล รัศมีการควบคุมรีโมตคอนโทรลในระดับ 300 เมตร

จากนั้นเปิดสวิตช์หลักที่ควบคุมวงจรทั้งหมด รอให้ระดับน้ำในท่อพีวีซีสูงขึ้นไปดันลูกลอย โดยลูกลอยจะไปดันให้เชือกตึง เป็นผลให้เชือกไปดึงสวิตช์กลไกต่างๆ จึงเกิดสัญญาณไฟ และเสียงไซเรดังขึ้นมา แสดงว่าน้ำได้เพิ่มขึ้นสูงถึงขั้นวิกฤตแล้ว หลังจากนั้น จึงใช้รีโมตคอนโทรลทำการปิดสัญญาณไฟ และเสียงไซเรน

นายรัญชน์ จินดาวงศ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/1 กล่าวว่า สิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวได้ร่วมกับเพื่อนๆ ได้คิดค้นขึ้นมา เนื่องจากโรงเรียนที่ตนเองเรียนอยู่นั้นเป็นแอ่งกระทะ และเป็นพื้นที่ต่ำ น้ำจะท่วมบ่อยมาก ประกอบกับในเขตพื้นที่ จ.จันทบุรี ยังไม่มีเครื่องเตือนภัยน้ำท่วม จึงได้สร้างสิ่งประดิษฐ์นี้ขึ้นมา เพื่อเป็นการช่วยเหลือชาวบ้านที่อยู่บริเวณริมแม่น้ำจันทบุรี ที่อยู่ในจุดเสี่ยงภัยสามารถขนย้ายสิ่งของหนีน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นมาได้ และวัสดุอุปกรณ์ที่ประดิษฐ์นี้มีต้นทุนน้อย และมีประสิทธิภาพสูง โดยโยกย้ายใช้งานง่ายทุกภาวะวิกฤตที่จะเกิดน้ำท่วม

ด้าน น.ส.มัทนี สีมา ครูที่ปรึกษา กล่าวว่า การที่นักเรียนได้คิดค้นสร้างสิ่งประดิษฐ์นี้ขึ้นมา และเป็นสิ่งประดิษฐ์ชิ้นแรกของ จ.จันทบุรี ที่ยังไม่มีโรงเรียนไหนได้ประดิษฐ์ขึ้นมาก และยังเป็นการปฎิบัติในชั้นเรียนทางชีววิทยา และฟิสิกส์ โดยที่สามารถนำเครื่องไปสนับสนุนการเตือนภัยน้ำท่วมได้ และเป็นการเผยแพร่ไปยังนักเรียนในห้องเรียนมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน แสดงถึงศักยภาพ ประสิทธิภาพ “เครื่องเตือนภัยน้ำท่วม” อีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น