ฉะเชิงเทรา - ทึ่งประดิษฐกรรมจอภาพดูดวงอาทิตย์แบบง่ายจากเศษวัสดุเหลือใช้ ภายใต้แนวคิดแปลกใหม่ของนักเรียนมัธยมที่แปดริ้ว พร้อมใช้โอกาสที่ดาวศุกร์เคลื่อนผ่านหน้าดวงอาทิตย์ในการทดสอบ เผยสุดเจ๋งราคาประหยัด มองเห็นภาพชัดเจนแจ่มแจ้ง ขณะเยาวชนนับพันร่วมเป็นสักขีพยาน พร้อมแหวกม่านเมฆบันทึกภาพได้สมใจ
วันนี้ (6 มิ.ย.) เวลา 16.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศหลังจากการติดตามเฝ้าชมปรากฏการณ์ดาวศุกร์โคจรเคลื่อนผ่านหน้าดวงอาทิตย์ที่เกิดขึ้นในวงรอบ 105 ปีในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ท่ามกลางความสนใจของผู้คนทั่วไปที่เฝ้ารอติดตามชมปรากฏการณ์ดังกล่าวเมื่อเช้าที่ผ่านมานั้น
ที่บริเวณดาดฟ้าชั้น 7 โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ อ.เมืองฉะเชิงเทรา บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคึกไม่แพ้มุมเฝ้ามองดูดวงอาทิตย์จุดใดๆ บนโลกเช่นกัน เนื่องจากโรงเรียนมัธยมแห่งนี้ถือเป็นแกนนำหลักในเครือข่ายของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ไทย ได้จัดกิจกรรมออกค่ายดาราศาสตร์ในการชักจูงเยาวชนและโรงเรียนรอบข้างเข้ามาร่วมกิจกรรมเป็นเครือข่ายในการเรียนรู้ทางด้านดาราศาสตร์ของเยาวชนภายในจังหวัดฉะเชิงเทรา
โดยนายชูชาติ แพน้อย หัวหน้างานห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ ได้นำเยาวชนและนักเรียนกว่า 1,200 คน ประกอบด้วย นักเรียนจากโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ 420 คน โรงเรียนเทศบาลวัดแหลมใต้ 380 คน โรงเรียนวัดดอนทอง 80 คน โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ 2 จำนวน 40 คน ร่วมกันทำกิจกรรมในการติดตามเฝ้าสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ในครั้งนี้ด้วย ท่ามกลางท้องฟ้าที่มืดมิดเต็มไปด้วยเมฆฝน
แต่ที่น่าแปลกตาและเป็นที่ตื่นเต้นของบรรดาเด็กๆ จากโรงเรียนเล็กๆ ที่เข้ามาร่วมกิจกรรมก็คือ อุปกรณ์ในการเฝ้าติดตามปรากฏการณ์ในครั้งนี้ที่ทางนักเรียนมัธยมรุ่นพี่ได้ประดิษฐ์สร้างสรรค์ขึ้นมาจากแนวคิดในการสะท้อนภาพของเครื่องฉายหนัง ด้วยการนำถ้วยพลาสติกใส่อาหารประเภทพร้อมรับประทานแบบสะดวก และอุปกรณ์สิ่งทรงกลม เช่นกระถางต้นไม้แบบพลาสติกนำมาดัดแปลงเป็นอุปกรณ์ในการเฝ้าติดตามชมปรากฏการณ์บนดวงอาทิตย์แบบง่าย และปลอดภัย
ด้วยการนำอุปกรณ์ดังกล่าวมาเชื่อมต่อเข้ากับเลนตาของกล้องดูดาวและรับภาพปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์ ฉายจากเลนตาขึ้นมาสู่จอภาพที่ทำขึ้นจากกระดาษขาวขึงอยู่ภายในวัสดุทรงกลม สิ่งประดิษฐ์ที่ทำขึ้นมานั้น ซึ่งทำให้ภาพที่ปรากฏขึ้นมาบนจอภาพนั้นเห็นได้อย่างชัดเจน และคมชัด สะดวกต่อการเฝ้าสังเกตการณ์ และปลอดภัยต่อสายตาของผู้ที่ติดตามเฝ้าชมอีกด้วย
นายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต นักดาราศาสตร์ท้องถิ่นชาว จ.ฉะเชิงเทรา ผู้ร่วมขับเคลื่อนในการก่อตั้งหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นหอดูดาวระดับภูมิภาคในเครือข่ายของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า ในวันนี้การขับเคลื่อนเครือข่ายดาราศาสตร์ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ไทยในระดับภูมิภาคแห่งนี้ ได้สนับสนุนโรงเรียนด้อยโอกาสในชนบทโดยรอบหอดูดาวแห่งใหม่ที่กำลังก่อสร้างจำนวน 12 แห่ง
ประกอบด้วย โรงเรียนไผ่แก้ววิทยา โรงเรียนตลาดบางบ่อศักดิ์ปรีดาประชาสรรค์ โรงเรียนวัดวังเย็น โรงเรียนโกรกแก้ววงพระจันทร์ โรงเรียนวัดประศาสนโสภณ โรงเรียนวัดสนามจันทร์ โรงเรียนวัดสนามช้าง โรงเรียนแปลงยาวพิทยาคม โรงเรียนวัดสระสองตอน โรงเรียนวัดหนองน้ำขาว โรงเรียนวัดหนองไม้แก่น และโรงเรียนบ้านหนองโสน ร่วมกันจัดกิจกรรมในการเฝ้าสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน
แต่ก็น่าเสียดายที่ท้องฟ้าเหนือจังหวัดฉะเชิงเทรานั้นปิด เพราะถูกปกคลุมไปด้วยเมฆฝนทั่วทั้งจังหวัด และมีโอกาสในการเก็บบันทึกภาพปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้เพียงในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ระหว่างช่วงที่เมฆเคลื่อนตัวผ่านเพียงแค่ครั้งละ 3-5 วินาที และมีช่วงที่ท้องฟ้าเปิดจนเห็นดวงอาทิตย์นานสุดเพียง 3 นาทีเท่านั้น