จันทบุรี - ชาวบ้านจันทบุรี 2 หมู่บ้านฮือประท้วงโรงงานแปรรูปผลไม้ชุ่ย ขนขยะทิ้งบ่อบำบัดร้างกลางชุมชน ทำน้ำเน่าเสียส่งกลิ่นเหม็นรบกวน ซ้ำเกิดกองทัพแมลงวันบุกทั่ว 2 หมู่บ้าน
วันนี้ (1 มิ.ย.) ที่หลังโรงงานร้างกลางชุมชน ม. 13 ต.พลับพลา อ.เมือง จ.จันทบุรี ชาวบ้านจำนวนกว่า 50 คน ฮือประท้วงปิดทางเข้าออกชุมชน เพื่อสกัดไม่ให้รถบรรทุกของโรงงานแปรรูปผลไม้แห่งหนึ่ง เข้ามาทิ้งขยะ พร้อมนำ นายณัฐวัฒน์ เรืองไชยโชค นายกเทศมนตรีตำบลพลับพลานารายณ์ เข้าตรวจสอบบริเวณบ่อบำบัดด้านหลังโรงงานร้าง ของบริษัท ไทยอะโกรฟู้ด
ภายหลังจากโรงงานแปรรูปผลไม้แห่งหนึ่งในพื้นที่ ได้นำขยะเป็นเศษเปลือกและเมล็ดผลไม้ ทั้งเงาะ มังคุด ทุเรียน และมะม่วง เข้ามาทิ้งในบ่อบำบัดร้าง ส่งผลทำให้เกิดการสะสมของขยะ จนเกิดน้ำเน่าเสียไหลลงสู่ลำคลอง ร่องน้ำทางการเกษตร และยังส่งกลิ่นเหม็นไปทั่ว ทำให้ชาวบ้านพื้นที่ ม.13 และ ม.11 ได้รับผลกระทบ ซ้ำยังทำให้กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวันขนาดใหญ่ บินไปก่อสร้างความรำคาญเดือดร้อนให้แก่บ้านเรือนประชาชนใกล้เคียง
นายณัฐวัฒน์ เรืองไชยโชค นายกเทศมนตรีตำบลพลับพลานารายณ์ ได้เป็นตัวแทนชาวบ้าน เข้าเจรจากับตัวแทนฝ่ายโรงงาน ในเบื้องต้น ได้สั่งระงับห้ามนำขยะเข้ามาทิ้งในพื้นที่ทันที และให้ดำเนินการกำจัดขยะที่นำมาทิ้งไว้ภายใน 7 วัน
ขณะที่นายอธิวัฒน์ เนตรสุทิศน์ ผู้จัดการโรงงานแปรรูปผลไม้ บริษัท AM ไทยฟู้ด ได้ออกมากล่าวขอโทษชาวบ้าน พร้อมกล่าวยืนยันจะเร่งดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยการหยุดนำขยะมาทิ้ง
เบื้องต้น ได้ติดต่อรถแบ็กโฮ และรถบรรทุกมาทำการขนย้ายขยะไปทิ้งที่บ่อบำบัดของเทศบาลเมืองจันทบุรี และจะนำสารอีเอ็มมาโปรยในบ่อบำบัดร้าง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ลดกลิ่นเหม็น ส่วนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเน่าเสีย ทางบริษัทจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบความเสียหาย เพื่อจะได้จ่ายค่าชดเชยเยียวยาให้แก่ชาวบ้านที่เดือดร้อนต่อไป
ด้านน.ส.ณัฤชล บุญทิน ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน กล่าวว่า จากการที่ทางโรงงานแปรรูปผลไม้ได้นำเปลือกผลไม้ เช่น มะม่วง และสับปะรด มาทิ้งกลางหมู่บ้านทำให้เกิดน้ำเน่าเสีย มีกลิ่นเหม็น และมีแมลงวันรบกวนเป็นเพราะทางโรงงานไม่มีบ่อบำบัดน้ำเสีย และไม่มีระบบการจัดการที่ดี แม้ทางตัวแทนโรงงานจะมีการรับปากจะมีการแก้ไขปรับปรุงไม่มีการนำเปลือกผลไม้มาทิ้งอีก
แต่ถึงอย่างไร ถ้าโรงงานมีการขนไปถึงที่อื่นอีกก็จะสร้างปัญหาให้แก่พื้นที่อื่นๆ อีกต่อไป จึงอยากให้ทางโรงงานมีการหาวิธี และระบบการจัดการที่ดีไม่ควรทำอย่างนี้อีกเพราะเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม และสร้างปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้าน