ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือ เพื่อนสนิทของมนุษย์ มีความเกี่ยวพันกับชีวิตประจำวันของเราทุกคนตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้าจนเข้านอนในตอนกลางคืน
เป็นเวลาหลายปีแล้ว ที่พวกเราทุกคนเห็นและได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ...ภาวะโลกร้อน อุทกภัย วาตภัย ฯลฯ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุสำคัญมาจากมนุษย์เรา
เอ็กโก กรุ๊ป หรือ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) และอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เชื่อว่า ‘จิตสำนึก’ คือ หนทางที่จะรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่ยืนยาวที่สุด และช่วยเราทุกคนบรรเทาปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จึงได้มุ่งปลูกจิตสำนึกรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในใจ ‘เยาวชน...ต้นทางสังคมแห่งอนาคต’ ผ่านโครงการค่ายเยาวชนเอ็กโกไทยรักษ์ป่า มาตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งมีเยาวชนอายุระหว่าง 14-18 ปี ผ่านการฝึกอบรมรวมแล้วกว่า 2,500 คน
ในปีนี้ เอ็กโก กรุ๊ป และอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ได้ร่วมกับมูลนิธิไทยรักษ์ป่า จัดโครงการค่ายเยาวชนเอ็กโกไทยรักษ์ป่า รุ่นที่ 38 ขึ้น ภายใต้แนวคิด “ไขความลับธรรมชาติ แก้สมการ 4 ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ สู่ต้นกำเนิดไฟฟ้า” เพื่อดึงธรรมชาติของเยาวชนที่สนุกเล่น เรียนรู้ และค้นหาความจริง ไปร่วมไขความลับ ความหมาย และคุณของธรรมชาติ ตั้งแต่ “ดิน” ในฐานะแหล่งกำเนิดต้นไม้ พืชพันธุ์ และต้นกำเนิดแหล่งอาหารสำคัญของมนุษย์ “น้ำ” ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการหล่อเลี้ยงธรรมชาติ สร้างความชุ่มชื้นต่อสายใยชีวิตของพืช สัตว์ และคน “ลม” หรืออากาศ ในฐานะกลไกเชื่อมต่อระบบนิเวศ และ “ไฟ” อุณหภูมิและความร้อนที่ช่วยรักษาสมดุลให้ป่าไม้ ธรรมชาติ และสิ่งมีชีวิต
5 วัน 4 คืน ท่ามกลางห้องเรียนธรรมชาติขนาดใหญ่ของ ‘ป่าต้นน้ำ’ ดอยอินทนนท์ เยาวชนได้มีโอกาสเรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกัน ผ่านการสร้างค่ายพักแรม การหุงหาอาหารที่ทุกกลุ่มจะต้องบริหารอาหารสดและแห้งที่ได้รับการแจกจ่ายให้พอเพียงสำหรับใช้ตลอดการฝึกอบรม เรียนรู้การดำรงชีพในป่า การดูดาวตามหลักวิชาดาราศาตร์เพื่อการนำทางด้วยดวงอาทิตย์และดวงดาว การดูนกเบื้องต้น พร้อมๆ กับการสำรวจสิ่งมีชีวิตและศึกษาธรรมชาติอย่างใกล้ชิด โดยมีป่าและขุนเขาเป็นเสมือนห้องเรียน และมีสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติเป็นบทเรียน
ดร.สกุล พจนารถ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกลยุทธ์และบริหารองค์กร เอ็กโก กรุ๊ป กล่าวว่า “เอ็กโก กรุ๊ป มีทัศนคติว่า ต้นทางดี จะก่อกำเนิดผลลัพธ์ปลายทางที่ดี เราจึงให้ความสำคัญในเรื่องต่างๆ ตั้งแต่ต้นทาง อย่าง ‘การอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ’ ก็ถือว่าเป็นดูแลรักษาต้นทางชีวิตและต้นกำเนิดพลังงานของมนุษย์ เพราะเราจำเป็นต้องใช้น้ำในการอุปโภค บริโภคทุกวัน หรือ ‘การปลูกจิตสำนึกเยาวชน’ ก็ถือว่าเป็นต้นทางของสังคม ซึ่งพวกเขาจะเป็นกำลังสำคัญในการช่วยดูแลรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป”
“เมื่อเราค่อย ๆ ปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้กับเยาวชน ผ่านกระบวนเรียนรู้ทางด้านความคิด และประสบการณ์ตรงในห้องเรียนขนาดใหญ่บนพื้นที่ป่าธรรมชาติ เชื่อว่าเยาวชนจะสามารถนำความรู้ที่ได้ไปบอกต่อ ถ่ายทอดเรื่องราวได้เป็นอย่างดี และสร้างเครือข่ายเยาวชนจากรุ่นสู่รุ่นต่อไป”
ด้านนายเกรียงศักดิ์ ถนอมพันธ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ กล่าวว่า อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญและมีความหลากหลายในระบบนิเวศป่าไม้มากที่สุด เติมเต็มและกระตุ้นองค์กรภาคธุรกิจที่มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้หันกลับมาช่วยกันดูแลอนุรักษ์แหล่งต้นน้ำ เมื่อมีการดูแลป่าเป็นอย่างดี ไม่มีการทำลาย ก็จะก่อให้เกิดแหล่งรวมสิ่งแวดล้อมที่มีคุณค่า แหล่งต้นน้ำลำธาร เมื่อต้นน้ำดี กลางน้ำดี ปลายน้ำก็ย่อมดีด้วย
“การสร้างจิตสำนึกให้กับเยาวชน เปรียบเสมือนการเพาะเมล็ดพันธุ์ เมื่อเยาวชนได้ซึมซับตั้งแต่เด็กจะทำให้เข้ารู้ถึงคุณค่าและเกิดความรักความหวงแหนในทรัพยากรป่าไม้และธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น การเข้าค่ายของเยาวชนเป็นการเดินเข้าสู่ห้องเรียนธรรมชาติที่มีคุณค่าสำคัญยิ่ง อยากให้ทุกหน่วยงานทุกองค์กรสนับสนุนส่งเสริมให้เยาวชนไทยได้เรียนรู้ซึ่งคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ สร้างจิตสำนึก กระตุ้นจิตอาสาให้กับเยาวชน เพื่อรักษาคุณค่าและคงความงดงามของธรรมชาติไว้ต่อไป”
น้องเอ็กซ์ หรือทัศนัย ด้วงทองสกุล จากโรงเรียนเมืองกระบี่ เล่าว่า “ผมเป็นคนใต้ที่ไม่เคยเห็นดอย เหมือนกับคนดอยอยากเห็นทะเล ดอยอินทนนท์เป็นป่าที่สูงที่สุดในประเทศไทย เป็นตีนเขาหิมาลัย และเป็นแรงจูงใจที่ทำให้ผมอยากมาเข้าค่ายครั้งนี้”
“มาค่ายนี้ ทำให้ผมมีความรู้เรื่องน้ำและความสำคัญของต้นน้ำ ผมเป็นคนปลายน้ำ จะประหยัดการใช้น้ำมากขึ้น สิ่งที่ผมประทับใจมากที่สุดก็คือพี่เลี้ยงและเจ้าหน้าที่ ถ้ามีโอกาสผมอยากมาเป็นพี่เลี้ยง อยากบอกต่อความรู้ในป่าให้กับน้องๆ”
น้องน้ำฝน หรือ ขวัญแก้ว แช่มโสภา จากโรงเรียนราชินี จ.กรุงเทพฯ เผยว่า “ค่าย 5 วัน 4 คืน กับเพื่อนใหม่ ทำให้เรามีเพื่อมากขึ้น และรู้จักปรับตัวเข้าหาเพื่อนหลากหลายรูปแบบ ได้เจอกับสิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเห็น เช่น พืช ต้นไม้ และสัตว์หายาก โดยเฉพาะเลียงผา ซึ่งกลุ่มของน้ำฝนได้มีโอกาสเห็นระหว่างการเดินป่าในเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน ได้มีโอกาสกอดต้นไม้ ฟังเสียงต้นไม้ ทำให้เรารู้สึกว่าต้นไม้ก็มีชีวิต”
น้องริน หรือชิติวัฒน์ อินทรปรีชา จากโรงเรียนยุพราช จ.เชียงใหม่ ซึ่งมาร่วมค่ายปีนี้ในฐานะพี่เลี้ยง บอกว่า “ค่ายเยาวชนเอ็กโกไทยรักษ์ป่า เป็นกิจกรรมที่หาได้ยากในประเทศไทย หลังจากที่จบค่ายและผมได้มีโอกาสไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่เมืองนอก ผมได้นำเสนอวิธีการเอาตัวรอดในป่า การเรียนรู้ธรรมชาติ ไปแบ่งปัน ก็ทำให้เพื่อนอึ้งไปเหมือนกัน เพราะประเทศเขาไม่มี”
“ผมอยากตอบแทนค่ายที่เคยให้เรามาอะไรหลาย ๆ อย่าง จึงอาสากลับมาเป็นพี่เลี้ยง... 3 ปี ที่ผ่านมา ผมก็พยายามไปหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อเตรียมความพร้อมให้สมกับการที่ได้รับบทบาทหน้าที่การเป็นพี่เลี้ยง ซึ่งมาครั้งนี้พี่รักษ์ ทีมสื่อความหมายของอุทยานฯ และเป็นพี่เลี้ยงประจำกลุ่มสอนผมว่า เราอาจจะมีน้ำเก่า 30 แต่อีก 70 ก็สามารถเติมรับสิ่งใหม่ ๆ ได้ ซึ่งตัวเองก็พยายามทำตัวให้ว่างเปล่า เปิดรับสิ่งใหม่ การที่ไม่รู้และได้เรียนรู้ถือว่าเป็นสิ่งที่คุ้มค่า”
ค่ายเยาวชนเอ็กโกไทยรักษ์ป่า ทำให้เยาวชนเรียนรู้ว่า ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นทั้งเพื่อน ครู และพ่อแม่ในเวลาเดียวกัน และเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องร่วมปกป้องและหวงแหน เพื่อวันนี้และอนาคตของทุกคน