ฉะเชิงเทรา - ขยะจากกากอุตสาหกรรมยานยนต์ที่แปดริ้วยังเน่าเหม็นไม่เลิก หลังพบคนการเมืองท้องถิ่นสุมหัวคนมีสี แอบเอามาทิ้งกลางท้องนาจากโรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วนภายในยานยนต์ และเบาะรถยนต์ป้อนเข้าสู่โรงงานผู้ผลิตรถยนต์ยี่ห้อดัง ขณะผู้นำชุมชนถูกข่มขู่ห้ามจุ้น หลังเคยร่วมนำลูกบ้านออกมาเคลื่อนไหว
วันนี้ (20 พ.ค.) เวลา 10.00 น. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากชาวบ้านระดับแกนนำชุมชน ในเขตพื้นที่ ม.3 ต.หนองบัว อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ว่า ขณะนี้ขยะจากภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ จำพวกชิ้นส่วนตกแต่งภายในรถยนต์ ทั้งฟองน้ำ โฟม แผ่นใยสังเคราะห์ พลาสติก กาวยาง ทินเนอร์ เม็ดพลาสติก และผงทางเคมีต่างๆ ไม่ทราบชนิด ที่ถูกแอบนำมาทิ้งภายในหมู่บ้านชนบท ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ของการเพาะเลี้ยงกุ้ง ปลา ส่งออก รวมถึงการทำนาข้าวด้วย ตามที่ได้เคยนำเสนอข่าวไปแล้วเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา (15 พ.ค.) ได้เกิดการเน่าเสียและแพร่กระจายออกไปสู่พื้นที่ของภาคเกษตรกรรมเป็นวงกว้างมากขึ้น
ทั้งนี้ เนื่องจากมีฝนตกลงมาอย่างหนักในพื้นที่ จึงทำให้เกิดการซึมผ่าน และไหลออกของน้ำปนเปื้อนทางเคมีไปไกลในพื้นที่หลายหมู่บ้าน ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมายังไม่มีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามาทำการตรวจสอบแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ผู้นำในชุมชนที่ได้เคยออกมาร่วมเคลื่อนไหวกับชาวบ้านยังถูกกลุ่มทุนดังกล่าว ซึ่งเป็นคนมีสีโทรศัพท์มาข่มขู่ โดยบอกว่าให้อยู่เฉยๆ ห้ามเข้ามายุ่งเกี่ยวอีกด้วย
จึงทำให้ในขณะนี้ ชาวบ้านที่กำลังเดือดร้อนจากผลกระทบที่เกิดขึ้นยังไม่มีทางออก ในการแก้ไขปัญหาต่ออาชีพที่เคยทำกินมาก่อนหน้า และขณะนี้ ยังมีบางรายได้รับความเสียหายจากนากุ้งล่มลงกลางคันอีกด้วย เนื่องจากที่ผ่านมานั้น ชาวบ้านบางส่วนหลายรายยังไม่ทราบว่าน้ำจากภายในลำคลองสาธารณะนั้น ไม่สามารถสูบนำขึ้นมาใช้ในการเพาะเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลาได้
สำหรับแหล่งที่มาของขยะอุตสาหกรรมนี้ มีต้นทางมาจากโรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สัญชาติญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ในแถบย่านบ้านหัวเนิน ต.สนามจันทร์ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งผลิตชิ้นส่วนเกี่ยวกับเบาะรถยนต์ และอุปกรณ์ภายในป้อนให้แก่โรงงานประกอบรถยนต์รายใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งมีโรงงานอยู่ไม่ไกลกันนัก โดยที่มีคนมีสีในพื้นที่ ชั้นยศนายดาบตำรวจ เป็นผู้เข้าไปประมูลรับทิ้งขยะออกมาจากโรงงานอุตสาหกรรมดังกล่าวนี้ในนามบริษัทของผู้เป็นน้องชาย
ก่อนที่จะนำเอาขยะอุตสาหกรรมเหล่านี้ ออกมากองทิ้งไว้ภายในบ่อกุ้ง บ่อเลี้ยงปลาริมหลอดคลองส่งน้ำสาธารณะซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้ร่วมกัน ในแปลงที่ดินหลุดจำนองของชาวบ้านจากหนี้นอกระบบของนักการเมืองท้องถิ่นรายหนึ่ง จึงทำให้กระบวนการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานภาครัฐทำได้อย่างล่าช้า หรือไม่ตอบสนองต่อความเดือดร้อนของชาวบ้านในเรื่องดังกล่าวที่เกิดขึ้น