xs
xsm
sm
md
lg

คณะแพทย์ มช.เปิดตัว “หุ่นยนต์ผ่าตัด” ให้บริการประชาชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - คณะแพทยศาสตร์ มช.เปิดศูนย์หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด หลังจัดซื้อหุ่นยนต์ผ่าตัดราคา 85 ล้านมาให้บริการประชาชน แจงใช้หุ่นยนต์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัย เหตุแผลผ่าตัดเล็ก-ใช้เวลาสั้น-ลดความเสี่ยงติดเชื้อหรือภาวะแทรกซ้อน คณบดีเผยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ธันวาคม 54 ให้บริการผู้ป่วยแล้ว 26 ราย ผลผ่าตัดเป็นที่น่าพอใจ

วันนี้ (18 พ.ค.) ที่ห้องประชุมชั้น 15 อาคารเฉลิมพระบารมี โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับบริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) แถลงข่าวการเปิดศูนย์หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Chiang Mai Robotic Surgery Center) ณ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรีและนายกสภามหาวิทยาลัยเป็นประธาน

หุ่นยนต์ผ่าตัด หรือ Robot Surgery ถือเป็นเครื่องมือที่มีเทคโนโลยีอันทันสมัยซึ่งช่วยให้การผ่าตัดเป็นไปอย่างสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยตัวหุ่นผ่าตัดประกอบด้วยแขนหุ่นยนต์ 4 แขนที่สามารถหักงอและหมุนได้อย่างอิสระ พร้อมด้วยช่องมองภาพแบบ 3 มิติ และมีกำลังขยายภาพของกล้องผ่าตัดสูงถึง 10 เท่า อีกทั้งยังมีระบบควบคุมภาพการผ่าตัดภายใต้กล้องในบริเวณที่ต้องการ ซึ่งนอกจากจะทำให้แพทย์ ผู้ช่วยแพทย์ และพยาบาลสามารถทำการผ่าตัดได้อย่างถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้นแล้ว ยังมีส่วนช่วยให้การรักษาพยาบาลมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ปัจจุบันหุ่นยนต์ผ่าตัดถูกนำมาใช้ในการผ่าตัดผู้ป่วยหลายระบบในปัจจุบัน เช่น โรคทางระบบทางเดินปัสสาวะ โรคทางระบบทางเดินอาหาร โรคทางระบบนรีเวช โรคทางระบบหัวใจ และโรคทางระบบหู คอ จมูก เนื่องจากแผลที่เกิดจากการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ผ่าตัดมีขนาดเล็ก จึงทำให้ลดความเสี่ยงของการติดเชื้อในแผลผ่าตัดและภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ลงได้ ขณะเดียวกันยังลดระยะเวลาที่ใช้ในการผ่าตัดและการสูญเสียเลือด ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

สำหรับการนำหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเข้ามาให้บริการในศูนย์หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เริ่มเปิดดำเนินการมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2554 ภายหลังจากที่คณะแพทยศาสตร์ได้จัดซื้อหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดรุ่นใหม่ล่าสุด มูลค่า 85 ล้านบาทเข้ามาใช้งาน โดยศูนย์หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดแห่งนี้ถือเป็นหนึ่งในภารกิจของศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อบูรณาการงานวิจัยและงานบริการในแบบสหวิทยาการ รวมทั้งมุ่งสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติ โดยภายในศูนย์ประกอบด้วยศูนย์หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด, ศูนย์เอกซเรย์ด้วยเครื่อง PET SCAN, ศูนย์เลสิก, ศูนย์วิจัย Stem Cell และทาลัสซีเมีย, ศูนย์ผู้มีบุตรยาก, ศูนย์สุขภาพสตรีและศูนย์เวชศาสตร์ความงาม, ศูนย์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน และศูนย์ผู้สูงอายุ

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงการเปิดศูนย์หุ่นยนต์ผ่าตัดว่า การนำหุ่นยนต์ผ่าตัดเข้ามาให้บริการประชาชนที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่นั้น ถือเป็นแห่งที่ 4 ของประเทศนอกเหนือจากโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลกรุงเทพ อีกทั้งยังถือเป็นโรงพยาบาลในภูมิภาคแห่งแรกที่มีการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด

ด้านผลการให้บริการประชาชนนับตั้งแต่ศูนย์หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเปิดให้บริการจนถึงปัจจุบันนั้น รองศาสตราจารย์ นายแพทย์นิเวศน์กล่าวว่า มีการใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดในการผ่าตัดผู้ป่วยแล้วทั้งสิ้นจำนวน 26 ราย เป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก 20 ราย และผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ 6 ราย ผลการผ่าตัดทั้งหมดเป็นที่น่าพอใจ โดยพบว่าผู้ป่วยเสียเลือดน้อยในการผ่าตัดและยังไม่พบว่ามีภาวะแทรกซ้อนแต่อย่างใด




กำลังโหลดความคิดเห็น