xs
xsm
sm
md
lg

2 อำเภอเมืองลับแลเจอพายุถล่มยับ สวนทุเรียนโค่น-เสาไฟล้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุตรดิตถ์ - เกิดเหตุพายุพัดกระหน่ำพื้นที่อำเภอลับแล อำเภอพิชัย เมืองลับแล ส่งผลให้บ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหายกว่า 500 หลังคาเรือนใน 5 ตำบล และต้นทุเรียนที่อำเภอลับแลเสียหายจำนวนมาก

รายงานข่าวจากจังหวัดอุตรดิตถ์แจ้งว่า ได้เกิดมีฝนตกหนักและลมกระโชกแรงบางพื้นที่ในจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอลับแล และอำเภอพิชัย ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตรจำนวนมากเมื่อค่ำวันที่ 15 พฤษภาคม 55 ที่ผ่านมา ซึ่งต่อมานายโยธินศร์ สมุทรคีรีจ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งระดับจังหวัด และในพื้นที่เร่งตรวจสอบประเมินความเสียหาย

โดยนายสุรชัย ธัชกวิน หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุตรดิตถ์ ร่วมกับทางอำเภอและหน่วยงานทหารจากจังหวัดทหารบกอุตรดิตถ์ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ราษฎรอย่างเร่งด่วน

ซึ่งในพื้นที่อำเภอลับแลมีพื้นที่ประสบภัย 2 ตำบล คือ ตำบลแม่พูล และตำบลฝายหลวง มีต้นทุเรียนของเกษตรกรเสียหายจำนวนมาก โดยเฉพาะที่หมู่บ้านผามูบ มีต้นไม้โค่นล้มทับสายไฟฟ้าทำให้สายไฟฟ้าชำรุดหลายจุดชาวบ้านยังไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้จนกระทั่งขณะนี้ (16 พ.ค.) ซึ่งทางการไฟฟ้าอำเภอลับแล และจังหวัดอุตรดิตถ์ กำลังระดมกำลังเจ้าหน้าที่เข้าทำการซ่อมแซมอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ชาวบ้านได้มีไฟฟ้าใช้ให้ทันก่อนมืดคืนนี้

ส่วนพื้นที่อำเภอพิชัย ได้รับรายงานการเกิดวาตภัย มีพื้นที่ได้รับความเสียหาย 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลพญาแมน, ตำบลบ้านโคน และตำบลท่ามะเฟือง รวมพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายทั้งอำเภอพิชัย และอำเภอลับแล 5 ตำบล 20 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อนแล้วกว่า 500 ครัวเรือน ทางอำเภอได้ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการสำรวจความเสียหายเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่อไป

หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุตรดิตถ์กล่าวอีกว่า ช่วงนี้ทางจังหวัดอุตรดิตถ์ได้มีประกาศเตือนประชาชนเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม โดยให้ทุกอำเภอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณที่ราบต่ำ ที่ลาดเชิงเขา และพื้นที่เสี่ยงภัยของจังหวัดระมัดระวังอันตรายจากภัยอันเกิดจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีฝนตกหนัก ต่อไปอีก 5-6 วัน (ระหว่างวันที่ 15-20 พฤษภาคม 55)

โดยให้ติดตามพยากรณ์อากาศและการประกาศเตือนภัยจากสถานีวิทยุกระจายเสียง เสียงตามสาย หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน และเครือข่ายวิทยุสมัครเล่น สถานีโทรทัศน์และเคเบิลทีวีให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และขอให้ทุกหน่วยงานดำเนินการตามขั้นตอนของแผนป้องกันภัยฯของแต่ละอำเภอ ให้สามารถช่วยเหลือประชาชนหากเกิดสถานการณ์ขึ้นในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที และรายงานให้ทางจังหวัดทราบจนกว่าสถานการณ์จะสิ้นสุด




กำลังโหลดความคิดเห็น