xs
xsm
sm
md
lg

กาฬสินธุ์เร่งสร้าง “เช็กแดม” แก้ภัยแล้งและน้ำป่าไหลหลาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าฯ กาฬสินธุ์ พร้อมเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่สำรวจการก่อสร้างและความพร้อมของฝายต้นน้ำลำธาร หรือ เช็กแดม ที่บริเวณเทือกเขาภูพาน เขต ต.บ่อแก้ว อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือก่อนเข้าสู่ฤดูฝน พร้อมเร่งสร้างอีกรวม 490 จุด เพื่อกักเก็บน้ำในช่วงหน้าแล้ง และชะลอน้ำในช่วงน้ำป่าไหลหลาก
กาฬสินธุ์-จังหวัดกาฬสินธุ์เร่งสร้างฝายต้นน้ำลำธาร “เช็กแดม” กว่า 500 จุดบนเทือกเขาเขตรอยต่อจังหวัดสกลนคร เพื่อช่วยกักเก็บน้ำในช่วงหน้าแล้ง และชะลอน้ำในช่วงน้ำป่าไหลหลาก

นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นายนิยม กิตติวงศ์ตระกูล หัวหน้ากลุ่มงานทรัพยากรธรรมชาติ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่สำรวจการก่อสร้างและความพร้อมของฝายต้นน้ำลำธาร หรือ “เช็กแดม” ที่บริเวณเทือกเขาภูพาน เขตตำบลบ่อแก้ว อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นเขตรอยต่อระหว่างจังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดสกลนคร เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือก่อนเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งจังหวัดกาฬสินธุ์ได้ทำการก่อสร้างฝายต้นน้ำลำธารหรือ “เช็กแดม” รวม 490 จุด คิดเป็นเงินมูลค่ากว่า 15,000,000 บาท

นายสมศักดิ์กล่าวว่า จังหวัดกาฬสินธุ์มีพื้นที่ 6 อำเภอที่อยู่ในเขตป่าต้นน้ำลำธารบนเทือกเขาภูพาน เขตรอยต่ออยู่ติดกับจังหวัดสกลนคร ซึ่งแต่ละปีพื้นที่ทั้งหมดจะประสบปัญหา คือ ในช่วงฤดูฝนมักจะเกิดปัญหาน้ำหลากเนื่องจากปริมาณฝนที่ตกลงมาบนยอดภูส่งผลให้น้ำไหลลงที่ต่ำอย่างรวดเร็ว กระแสน้ำที่ไหลลงมานั้นมีความเชี่ยว เสี่ยงเป็นอันตรายหลายๆ ด้าน ส่วนในช่วงหน้าแล้งปริมาณน้ำก็จะแห้งขอดอย่างรวดเร็วเนื่องจากไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้

ดังนั้น จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาฬสินธุ์ จึงได้จัดสร้างฝายต้นน้ำลำธารขึ้นให้ครอบคลุมทั้ง 6 อำเภอ ซึ่งประกอบด้วย อำเภอกุฉินารายณ์ อำเภอเขาวง อำเภอสมเด็จ อำเภอคำม่วง อำเภอสามชัย และอำเภอนาคู เพื่อชะลอน้ำในช่วงน้ำหลาก เก็บกักตะกอนดินไม่ให้ไหลลงมา

อีกทั้งยังเป็นการเก็บกักน้ำไว้ในช่วงหน้าแล้ง เพื่อให้เกิดความชุ่มชื้นและตะกอนหน้าดินอุดมสมบูรณ์ น้ำที่เก็บกักไว้ได้ช่วยให้เกิดการฟื้นตัว เพิ่มความหลากหลาย และยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำและเป็นแหล่งน้ำบริโภคของสิ่งมีชีวิตทำให้ป่ามีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับฝายต้นน้ำลำธาร นอกจากจะช่วยชะลอการไหลของน้ำและช่วยกักเก็บน้ำในช่วงหน้าแล้งแล้ว ยังช่วยลดปัญหาการเกิดไฟป่าได้อีกด้วย เพราะหลังจากการสร้างฝายต้นน้ำครอบคลุมทั้ง 6 อำเภอทำให้ปัญหาไฟป่าเริ่มลดลง เนื่องจากความชุ่มชื้นในพื้นที่ป่าเริ่มมีมากขึ้น ปัญหาการเกิดไฟป่าจึงลดลงตามมา
กำลังโหลดความคิดเห็น