อุดรธานี - สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดอุดรธานี จัดโครงการเลือกตั้งเชิงสมานฉันท์ เชิญผู้สมัคร-ผู้บริหารท้องถิ่น และผู้สมัครสมาชิกสภาท้องถิ่นจังหวัดอุดรธานี ร่วมให้พันธสัญญาจะเลือกตั้งด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม
วันนี้ (2 พ.ค.) ที่หอประชุมโรงเรียนเทศบาล 6 อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดอุดรธานี ได้จัดโครงการเลือกตั้งเชิงสมานฉันท์ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นจังหวัดอุดรธานี โดยเชิญผู้สมัคร ผู้สนับสนุน รับทราบกติกาข้อห้าม ข้อควรปฏิบัติในการหาเสียง
รวมทั้งเสริมสร้างแนวคิดการเลือกตั้งสุจริต การรู้รักสามัคคี การรักษาความเป็นมิตรทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นจังหวัด โดยมีนายนิรันด์ ยั่งยืน กรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการการเลือกตั้งเชิงสมานฉันท์
นายพูลศักดิ์ สังแก้ว ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า การดำเนินงานโครงการเลือกตั้งเชิงสมานฉันท์ฯ มุ่งหวังที่จะสร้างจิตสำนึกที่ดีของผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่ให้กระทำผิดกฎหมาย และสามารถสร้างความรักความสามัคคีของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งให้เป็นไปในแนวทางที่สร้างสรรค์ และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่นโดยตรงทั้งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และผู้สนับสนุน
และให้ผู้สมัครรู้กฎหมาย ระเบียบ และกติกาต่างๆ ของการเลือกตั้ง เช่น การหาเสียงอย่างไรไม่ให้ผิดกฎหมาย สิ่งใดทำได้สิ่งใดทำไม่ได้ ให้รู้แพ้รู้ชนะ ให้ตระหนักถึงการซื้อสิทธิขายเสียง ลดความแตกแยกในชุมชน และลดการร้องเรียน
ด้านนายนิรันด์ ยั่งยืน กรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดอุดรธานี ได้กล่าวเปิดโครงการพร้อมให้ข้อคิดเห็นว่า ประเทศไทยในอดีตมีความรักความสามัคคี ร่มเย็นสงบสุข มีความเป็นพี่เป็นน้อง เกื้อกูลเอื้ออาทร ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อต่อกันมาตลอด แต่เมื่อมีการเลือกตั้ง กลุ่มผู้สนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งต่างมีการแข่งขัน แบ่งออกเป็นฝ่าย มีความขัดแย้ง ทะเลาะกัน เมื่อแพ้การเลือกตั้งบางคนอาจถึงฆ่ากัน
การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย เมื่อผลการแข่งขันเลือกตั้งประกาศอย่างเป็นทางการ หากทุกคนมุ่งมั่นที่ผลประโยชน์ของชุมชน สังคม และประเทศชาติ ปัญหาต่างๆ ที่ขัดแย้งจะลดลงทันที ปัจจุบันการเมืองเชิงสมานฉันท์มีความจำเป็นต่อสังคมไทยมาก เนื่องจากการเมืองในระบบนี้ทำให้ทุกฝ่ายมองเห็นเป้าประสงค์ของตนได้ และเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น อันจะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยระดับชาติต่อไป
ภายหลังคณะกรรมการการเลือกตั้งในด้านต่างๆ ได้ให้ข้อคิดในการเลือกตั้งเชิงสมานฉันท์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ร่วมกันกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณ และลงนามในสัญญาประชาคมการเลือกตั้งเพื่อสร้างความสมานฉันท์